กาแลนตามีน (Galantamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากาแลนตามีน (Galantamine หรือ Galantamine hydrobromide)เป็นยาในกลุ่มอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์หรือเอซีเฮชอีไอ(Acetylcholinesterase inhibitor ย่อว่า AChEI) มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในสมองของมนุษย์ที่มีชื่อว่า อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส เอนไซม์ (Acetylcholinesterase enzyme) ซึ่งช่วยทำให้สารสื่อประสาทอะซิติลโคลีน(Acetylcholine)ในสมองทำงานและออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาโรคความจำเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยากาแลนตามีน จะเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้สามารถกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 80 % - 100 % และจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 18 % ตับจะคอยทำลายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับ ปัสสาวะ และอุจจาระ

ข้อจำกัดการใช้ยากาแลนตามีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไตในระยะรุนแรง ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นช้า โรคหืด โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารไม่บีบตัว โรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง โรคลมชัก ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากาแลนตามีนกับผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยการวางยาสลบ
  • หากใช้ยากาแลนตามีนร่วมกับยาอื่นๆดังต่อไปนี้ อาจทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) เช่น ยาNSAIDs, ยากลุ่มSSRIs, Cholinergic agents, Cholinesterase inhibitors/Acetyl cholinesterase inhibitor, Ketoconazole, และ Anticholinergics

โดยทั่วไป แพทย์มักจะสั่งจ่ายยากาแลนตามีน โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังอาหาร ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ตรงเวลาทุกวัน ห้ามปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ด้วยจะเสี่ยงต่ออาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยานี้ติดตามมาได้

ปัจจุบันยากาแลนตามีนที่มีจำหน่ายในไทย ถูกจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ การสั่งจ่ายยานี้จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อยืนยันการใช้กับผู้ป่วยเท่านั้น

กาแลนตามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

กาแลนตามีน

ยากาแลนตามีนมีสรรพคุณ/ช้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการความจำเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer)

กาแลนตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากาแลนตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Acetylcholineterase ซึ่งจะเป็นตัวสลายสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Acetylcholine ส่งผลให้ Acetylcholine ในสมองมีปริมาณมากขึ้น และเกิดสมดุลของสารสื่อประสาทนี้ใหม่ จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

กาแลนตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากาแลนตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 4,8,12,และ 24 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 8,16, และ 24 มิลลิกรัม/แคปซูล

กาแลนตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยากาแลนตามีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 4 มิลลิกรัม วันละ 2ครั้ง เช้า-เย็น หลังอาหารเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 8 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จากนั้นอีกประมาณ 4 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 12 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยขนาดรับประทานสูงสุดคือ 16 - 24 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในเรื่องการใช้ยานี้กับเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากาแลนตามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหืด โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากาแลนตามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากาแลนตามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

กาแลนตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากาแลนตามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ร่างกายเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/ตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อจิตประสาท: เช่น ซึมเศร้า ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

มีข้อควรระวังการใช้กาแลนตามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากาแลนตามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลำไส้อุดตัน หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด อวัยวะในช่องทางเดินอาหาร
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก และผู้สูงอายุ หากจำเป็นต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากาแลนตามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

กาแลนตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากาแลนตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากาแลนตามีนร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากาแลนตามีนร่วมกับยา Cholinergic agents, SSRIs Acetylcholinesterase inhibitors, Ketoconazole, ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยากาแลนตามีนมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากาแลนตามีนร่วมกับยา Anticholinergic drug ด้วยอาจส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยา Anticholinergic drug ด้อยประสิทธิภาพลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษากาแลนตามีนอย่างไร?

สามารถเก็บยากาแลนตามีน ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซียลเซส(Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

กาแลนตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากาแลนตามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Reminyl (เรมินิล)Janssen-Cilag

อนึ่งชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Nivalin, Razadyne, Razadyne ER, Lycoremine, Galamer, Galamer OD

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Galantamine [2016,Oct8]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/galantamine/?type=brief&mtype=generic [2016,Oct8]
  3. https://www.drugs.com/cdi/galantamine.html [2016,Oct8]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/galantamine-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Oct8]