กาแฟลดความอ้วน (Anorexiant coffee)

เป็นที่ทราบกับดีแล้วว่า กาแฟทั่วไปและกาแฟลดความอ้วนที่เราดื่มกินกันมีสารออกฤทธิ์ที่รู้จักกันดีคือ สารกาเฟอีน/คาเฟอีน (Caffeine) ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้สมอง และช่วยขจัดความอ่อนล้า

กาเฟอีน มีชื่อทางเคมีว่า 1,3,7-trimethylxanthine ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ของยาขยายหลอด ลม Theophyline กาเฟอีน สามารถพบได้ในพืชหลายชนิด เช่น เมล็ดกาแฟ ใบชา และ ผลโคล่า (Kola nut, ผลต้นไม้ชนิดหนึ่งในเขคร้อน)

สารกาเฟอีน มีฤทธิ์เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้สมอง และช่วยขจัดความอ่อนล้า โดยได้ รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า มีคุณสมบัติเป็น “เทอร์โมเจนีซีส” (Thermogenesis) ซึ่งคือสารเร่งการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย มีผลทำให้ไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายถูกสลายเป็นพลังงานความร้อน

กาแฟจะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอ่อนๆ ดังนั้นขณะออกกำลังกายหรือหลังออกกำลังกาย ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟ เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้

กาเฟอีนจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วหลังจากที่เราดื่มกาแฟ และจะถูกขับออกจากร่างกายไปประมาณครึ่งหนึ่งในเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

กาแฟจะไม่สะสมในร่างกาย โดยจะถูกทำลายและขับออกหมด กาแฟจะกระตุ้นระบบประ สาทส่วนกลาง ทำให้ไม่ง่วง มีสมาธิในการทำงานดีขึ้น และยังทำให้ความสามารถในการทำงานดีขึ้น ลดอาการปวดเมื่อยเนื่องจากไข้หวัด และช่วยลดอุบัติเหตุขณะขับรถ กระตุ้นอวัยวะของร่าง กาย และเพิ่มการเผาผลาญไขมัน และอาจช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้นำผลการศึกษาดังกล่าวมาโฆษณาว่า การดื่มกาแฟสามารถช่วยลดความอ้วนได้

นอกจากนี้ สารกาเฟอีนยังมีฤทธิ์เป็นสารขับปัสสาวะ จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงชั่วคราว

สำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนโดยการดื่มกาแฟ คงต้องผิดหวังเมื่อได้อ่าน เพราะการจะได้ผล ต้องดื่มกาแฟถึงวันละอย่างน้อย 6 แก้วขึ้นไป

แต่ตามปกติแล้ว การดื่มกาเเฟที่ไม่ทำให้เกิดโทษจะต้องไม่เกิน 2-3 แก้วต่อวัน นอกจาก นี้ ร่างกายบางคนอาจไม่สามารถทนได้กับสารกาเฟอีนจำนวนมาก จากผลข้างเคียงของกาเฟอีนอาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาได้ เช่น นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย ภาวะขาดน้ำ ตาแห้ง คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย และกรดไหลย้อน

ดังนั้นอาจกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่กาแฟจะทำให้ลดน้ำหนักได้ เพราะไม่มีข้อมูลวิทยา ศาสตร์ยืนยันเช่นนั้น ทั้งนี้ ถ้าหากกินกาแฟสูตรใดสูตรหนึ่งแล้วสามารถลดน้ำหนักได้จริง คงเป็นการเติมสารอะไรบางอย่างทำให้มีผลต่อร่างกาย ซึ่งอาจเป็นยาลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก

ซึ่งทางสำนักงานอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขได้พบกาแฟลดความอ้วนที่มีการเติมสารลดความอ้วน ซึ่งเป็นยาควบคุมที่ห้ามจำหน่ายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ผสมอยู่หลายตราสินค้า โดยไม่มีการระบุว่ามีสารชนิดนี้ในกาแฟ ซึ่งสารลดความอ้วนที่ว่าคือสาร Sibutramine

สาร Sibutramine

สาร Sibutramine เป็นยาลดความอ้วนชนิดรับประทาน (Anorexiant) โดยยามีผลเพิ่มการไหลเวียนโลหิตของหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง โดยยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาท Serotonin, และ Norepinephrine ซึ่งการออกฤทธิ์ของ Serotonin เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อความอยากอาหาร (Appetite)

ผลข้างเคียงของ Sibutramine เช่น อาจจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและ เลือดออกในสมอง จากสามารถเพิ่มความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ป่วยบางคน ซึ่งผลข้างเคียงที่ตามมาที่เกิดไม่บ่อย แต่รุนแรง และต้องการการดูแลทางการแพทย์ทันที คือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การชาตามร่างกาย เช่น แขนขา, การเปลี่ยนแปลงจิตใจและอารมณ์ เช่น ตื่นเต้น, อยู่ไม่นิ่ง, สับสน, ซึมเศร้า, อยากคิดฆ่าตัวตาย

อาการที่ต้องการการรักษาทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน คือ การชัก, การถ่ายปัสสาวะไม่ออก

ยานี้ได้ถูกถอนทะเบียนจากตลาดในหลายๆประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป ฮ่องกง อินเดีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ

*****หมายเหตุ

ทุกวันนี้ยังไม่มีอาหารเสริมใด รวมถึงกาแฟที่เป็นการลดน้ำหนักได้อย่างถาวรและยั่งยืน เท่ากับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย

ทั้งนี้ อาหารเสริมจะทำให้ลดน้ำหนักได้เฉพาะช่วงที่ทาน หรือดื่มอาหารเสริมเหล่านั้นอยู่ แต่หลังจากเลิกแล้ว ก็จะเกิดโยโย่เอฟเฟกต์ (Yoyo effect, ผอมได้ระยะหนึ่ง แล้วจะกลับมาอ้วนจนควบคุมได้ยาก) คือทำให้น้ำหนักกลับมาอ้วนเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ ความเชื่อกันว่า ดื่มกาแฟแล้วจะทำให้น้ำหนักลดลงนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงกับการโหมโฆษณา ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทานกาแฟ

นอกจากนี้ อาจมีผลเสียกับร่างกายได้ หากดื่มกาแฟมากกว่าวัน 2 แก้วต่อวัน เพราะหากร่างกายได้รับปริมาณกาเฟอีนมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายได้ และหากมีการเติมสารหรือตัวยาสำหรับการลดน้ำหนัก ก็อาจเป็นอันตรายกับร่างกายในระยะยาวด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นการซื้อผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักเหล่านี้ ควรตรวจดูให้แน่ใจว่ามีการเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และมีการผ่านคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศนั้นๆหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพผู้บริโภค

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Sibutramine [2013,Nov25].
  2. http://www.lovefitt.com/healthy-fact/ [2013,Nov25].