ลมชัก:การรักษาโรคลมชัก

การรักษาโรคลมชัก

การรักษาโรคลมชักประกอบด้วย การวินิจฉัยที่ถูกต้อง การรักษาด้วยยากันชัก การผ่าตัด และการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ชัก อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความถูกต้อง ผมจึงอยากเล่าให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาโรคลมชัก ติดตามดูนะครับ

ความจริงที่ต้องรู้

  • โรคลมชักเป็นโรคที่มีผลการรักษาดีโรคหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย จริงแล้วการรักษาได้ผลดีมาก พบว่าการรักษาด้วยยากันชักเพียงชนิดเดียวสามารถควบคุมการชักได้ถึงร้อยละ 60 และที่เหลืออีกร้อยละ 40 เมื่อมีการใช้ยากันชักตั้งแต่ 2-3 ชนิดพบว่าได้ผลดีมากอีกถึงครึ่งหนึ่ง จึงเหลือเพียงร้อยละ 20 ของผู้มีอาการชักเท่านั้นที่รักษายากจริง ต้องใช้ยาหลายๆ ชนิดหรือต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
  • การรักษานานประมาณ 3-5 ปี คือต้องควบคุมอาการชักได้ดี ไม่มีอาการชักต่อเนื่อง 2 ปี และค่อยๆ หยุดยา ลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ
  • ผู้มีอาการชักที่ไม่ตอบสนงต่อการรักษาด้วยยากันชักหลายชนิด หรือมีโรคที่จำเป็นต้องผ่าตัด เท่านั้นจึงได้ประโยชน์จากการผ่าตัด ไม่ใช่ทุกคนต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

วิธีการรักษา

  • ทานยากันชักสม่ำเสมอทุกวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3-5 ปี ไม่ใช่ทานยาเฉพาะช่วงที่มีอาการชักเท่านั้น
  • การปรับพฤติกรรมโดยการลด ละ เลิกพฤติกรรมไม่ดี ที่กระตุ้นให้ชักได้ เช่น อดนอน นอนดึก ทานยาไม่สม่ำเสมอ ดื่มแอลกอฮอล์
  • ให้ความร่วมมือในการรักษา โดยการทานยากันชักสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ชักง่ายขึ้น

การเลือกใช้ยากันชัก แพทย์พิจารณาอย่างไร

  • การเลือกใช้ยากันชักชนิดไหนนั้น แพทย์ต้องดูจากรูปแบบการชัก สาเหตุ ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ โรคประจำตัว ยาที่ทานเป็นประจำ ประวัติการแพ้ยา เป็นต้น
  • รูปแบบการชัก ถ้าเป็นการชักแบบนิ่ง เหม่อ ลอย (absence seizure) จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชัก โซเดียมวาวโปเอต รูปแบบการชักอื่นๆ ตอบสนองต่อยากันชักหลายชนิด ไม่เฉพาะเหมือนการชักแบบนิ่ง เหม่อ ลอย ดังนั้นรูปแบบการชักจึงมีความจำเป็นที่แพทย์ต้องรู้ก่อนให้แน่ชัดว่าการชักเป็นรูปแบบไหน ดังนั้นญาติ หรือผู้เห็นเหตุการณ์ต้องบอกรายละเอียดของการชักได้ละเอียดเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าบันทึกภาพเหตุการณ์มาด้วยก็ยิ่งดี
  • โรคประจำตัว แพทย์จะพิจารณาโรคประจำตัวที่อาจเป็นสาเหตุของการชัก และ /หรือยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัว อาจมีการตีกันกับยากันชัก รวมทั้งยากันชักที่เลือกใช้จะส่งผลต่อโรคประจำตัวหรือไม่ เช่น โรคตับเป็นโรคประจำตัว การเลือกใช้ยากันชัก ต้องไม่มีผลข้างเคียงต่อตับ เป็นต้น
  • ประวัติการแพ้ยา ถึงแม้ยากันชักอาจไม่เคยใช้มาก่อนในการรักษาอาการชัก แต่อาจเคยใช้ยากันชักรักษาอาการอื่นๆ มาก่อน เช่น ปวดเหตุระบบประสาท เป็นต้น การให้ยารักษาอาการชัก จะต้องค่อยๆ เริ่มให้ยาขนาดต่ำๆ ก่อนเสมอ เพื่อลดโอกาสเกิดการแพ้ยา
  • ปัจจุบันการตรวจเลือดเพื่อทำนายว่าใครจะมีอาการแพ้ยากันชัก สามารถตรวจได้กรณีจะใช้ยากันชักคาร์บามาซีปีน เท่านั้น อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดก็ยังมีข้อจำกัด เช่น ตรวจได้เพียงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเท่านั้น ต้องรอเวลา ดังนั้นวิธีการลดโอกาสการแพ้ยา คือ การเริ่มยาขนาดต่ำๆ ก่อนเสมอ และค่อยๆ ปรับขนาดยาทุก 2-4 สัปดาห์

โรคลมชักรักษาให้หายขาดได้ ไม่อันตรายอย่างที่คิด