การรักษาโรคผิวหนังด้วยแสง (Phototherapy)

บทความที่เกี่ยวข้อง

การรักษาโรคผิวหนังด้วยแสง

การรักษาโรคผิวหนังด้วยแสง (Phototherapy) ซึ่งโดยทั่วไปแสง (Light) ที่นำมาใช้รักษาโรคผิวหนังเหล่านี้คือแสงอัลตร้าไวโอเลต/ แสงยูวี (Ultraviolet) หรือแสงอาทิตย์/แสงแดด (Sunlight) ที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ แต่ได้มีการนำมาทำให้มีความเข้มแสงตามที่กำหนดได้ตามที่ทางการแพทย์ต้องการ ทำให้บางครั้งเราเรียกแสงที่ใช้รักษาโรคผิวหนังว่าเป็น “แสงอาทิตย์เทียม” ซึ่งแสงที่นำมาใช้นี้ไม่ใช่แสงหรือรังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งที่เป็นรังสีประเภทไอออนไนซ์ (Ionizing radiation/ อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รังสีวิทยา และเรื่อง รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค)

แสงอัลตร้าไวโอเลตคืออะไร?

อัลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet) หรือที่บางครั้งเรียกสั้นๆว่า ยูวี (UV) คือช่วงหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 200 - 400 นาโนเมตร (Nanometer) โดยความยาวคลื่นช่วงนี้จะสั้นกว่าช่วงแสงที่มองเห็นด้วยตาเปล่า (visible light)

 โดยทั่วไปสามารถแบ่งแสงอัลตร้าไวโอเลตออกเป็น

  • แสงอัลตร้าไวโอเลต เอ (UV A): มีความยาวคลื่น 320 - 400 นาโนเมตร
  • แสงอัลตร้าไวโอเลต บี (UV B): มีความยาวคลื่น 280 - 320 นาโนเมตร
  • แสงอัลตร้าไวโอเลต ซี (UV C): มีความยาวคลื่น 200 - 280 นาโนเมตร

 โดยแสงอัลตร้าไวโอเลตแต่ละชนิดก็จะมีคุณสมบัติและประโยชน์ที่แตกต่างกัน สำหรับในทางการแพทย์เราจะใช้แสงอัลตร้าไวโอเลต เอ และอัลตร้าไวโอเลต บี ในการรักษา โรคผิวหนัง ส่วนแสงอัลตร้าไวโอเลต ซี จะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมักใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือใช้ในอุตสาหกรรมฆ่าเชื้อในอาหารได้

อัลตร้าไวโอเลตสามารถใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง?

เนื่องจากแสงอัลตร้าไวโอเลตนี้มีความสามารถในการทะลุทะลวงผิวหนังไปได้ถึงชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) และชั้นหนังแท้ (Dermis) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของแสง ดังนั้นจึงสามารถใช้รักษาโรคผิวหนังได้หลายโรค เช่น โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis),  โรคด่างขาว (Vitiligo), โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก  (Atopic dermatitis), ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema), โรคผื่นขุยกุหลาบ (Pityriasis rosea), ภาวะคันของผิวหนังที่ไม่ทราบสาเหตุ (Pruritus), หรือภาวะคันจากโรคตับ โรคไต, เป็นต้น นอกจากนี้แสงอัลตร้าไวโอเลตยังสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งผิวหนังชนิดมัยโคซีส ฟังกอยดีส (Mycosis fungoides/MF) ได้ด้วย

เครื่องฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตมีลักษณะเป็นแบบใดบ้าง?

นอกจากจะกำหนดว่าแสงที่ออกมาจะเป็นแสงอัลตร้าไวโอเลต เอ หรือ บี แล้ว ลักษณะของเครื่องฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตยังเป็นตัวกำหนดพื้นที่เพื่อให้ผิวหนังได้รับแสงเฉพาะบริเวณที่เป็นโรคได้ด้วย

โดยทั่วไปลักษณะเครื่องฉายแสงยูวีมี 3 แบบคือ

  1. ตู้ฉายแสง: เป็นเครื่องฉายแสงที่ใช้เพื่อให้ผิวหนังบริเวณกว้างได้รับแสง เหมาะสำหรับผู้ ป่วยที่มีรอยโรคกระจายทั่วตัว
  2. เครื่องฉายแสงเฉพาะส่วน: เป็นเครื่องฉายแสงที่ให้ผิวหนังเฉพาะส่วนได้รับแสง เช่น การฉายแสงเฉพาะส่วนมือ-เท้า ในผู้ป่วยโรคด่างขาวที่มีผื่นเฉพาะที่มือ-เท้า หรือผู้ป่วยที่มีผื่นคันตามมือ-เท้าเป็นๆหายๆ เป็นต้น
  3. เครื่องฉายแสงเฉพาะที่ขนาดเล็ก: เป็นเครื่องฉายแสงที่ฉายให้ผิวหนังเฉพาะที่เล็กๆได้รับแสง เหมาะสำหรับผู้ป่วยมีรอยโรคเฉพาะบางบริเวณและไม่อยากให้บริเวณผิวหนังปกติได้รับแสงเช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาวที่ใบหน้าก็จะได้รับแสงเฉพาะบริเวณรอยโรคบนใบหน้าบริเวณผิวปกติอื่นก็จะไม่ได้รับแสง หรือในกรณีโรคผิวหนังอื่นๆที่เหลือผื่นที่ดื้อต่อการรักษาเฉพาะที่ ก็สามารถใช้เครื่องฉายแสงเฉพาะที่รักษาร่วมด้วยได้เช่นกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

ข้อดีของการใช้แสงอัลตร้าไวโอเลตรักษาโรคทางผิวหนัง?

 ข้อดีของการใช้แสงอัลตร้าไวโอเลตรักษาโรคทางผิวหนัง นอกจากจะใช้รักษา โรคผิวหนังส่วนใหญ่ที่เป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรังได้แล้ว ยังสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนในวัยกลางคน และผู้สูงอายุ รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคอื่นร่วมด้วยเช่น โรคตับ  โรคไต โรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีการติดเชื้อเอดส์ ก็สามารถใช้แสงอัลตร้าไวโอเลตรักษาโรคทางผิวหนังได้ อีกทั้งยังทำให้ลดการใช้ ยาทา ยารับประทาน ที่อาจมีผลต่ออวัยวะระบบต่างๆของร่างกายได้ด้วย เช่น ตับ ไต

ข้อจำกัดของการใช้แสงอัลตร้าไวโอเลตรักษาโรคทางผิวหนัง?

เนื่องจากในการใช้แสงอัลตร้าไวโอเลตรักษาโรคผิวหนังจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อ เนื่องหลายครั้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้งขึ้นอยู่กับชนิดของโรคผิวหนังที่เป็น โดยทั่วไปผื่นผิวหนังจะดีขึ้นหลังจากได้รับการฉายแสงไปแล้วประมาณ 8 - 12 ครั้ง อย่างไรก็ตามในบางกรณีหรือในโรคผิวหนังบางโรค เช่น โรคมะเร็งผิวหนังชนิดมัยโคซีส ฟังกอยดีส(มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่พบยาก) จำเป็นต้องได้รับการฉายแสงอย่างต่อเนื่องมากกว่านี้เพื่อควบคุมโรคไม่ให้กำเริบ ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องสามารถให้ความร่วมมือ และมารักษาอย่างต่อเนื่องให้ได้เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนังและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ผู้มีความชำนาญในการให้แสงรักษา

การรักษาโรคผิวหนังโดยการฉายแสงจะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังหรือไม่?

เนื่องจากในการใช้แสงยูวีนี้เพื่อมารักษาโรค แพทย์ผิวหนังจะเป็นผู้กำหนดความเข้มแสงให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ในทางตรงกันข้ามการฉายแสงอาทิตย์เทียมนี้ยังสามารถนำมาใช้รักษามะเร็งผิวหนังบางชนิดได้ด้วยดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น