การรักษาสุขอนามัยเสียง (Voice hygiene)

การดูแลรักษาสุขอนามัยของเสียง จะช่วยป้องกัน และช่วยลดอาการเสียงแหบชนิดเกิดจากใช้เสียงผิดวิธี จากเสียงแหบด้วยสาเหตุต่างๆ และจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมการใช้เสียงที่ถูกต้อง ลดโอกาสเกิดโรคต่างๆของกล่องเสียงที่เกิดจากการใช้เสียงผิดวิธี ซึ่งการปฏิบัติเพื่อสุขอนามัยของเสียง มีดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการใช้เสียงมากเกินไป เช่น การตะโกน การเชียร์กีฬาดังๆ การพูดเสียงดังๆ หรือการพูดมากเกินไป ฯลฯ เพราะจะทำให้สายเสียงบวม แดง อักเสบได้
  2. หลีกเลี่ยงการไอ กระแอม หรือขากเสมหะบ่อยๆ แรงๆ เพราะจะทำให้สายเสียงบาดเจ็บ บวมได้ ควรจิบน้ำ กลืนน้ำลายแทน หรือไอ กระแอมเบาๆ เป็นเสียงกระซิบหากจำเป็นจริงๆ
  3. หลีกเลี่ยงการพูดหรือร้องเพลงในขณะเป็นหวัด
  4. หลีกเลี่ยงการพูดในที่มีเสียงดัง เช่น ขณะที่รถแล่น สถานบันเทิง หรือ บริเวณที่มีเสียงดังตลอดเวลา ฯลฯ เพราะจะทำให้ต้องพูดเสียงดังกว่าปกติ และทำให้สายเสียงบาดเจ็บได้
  5. หลีกเลี่ยงการเลียนเสียงแปลกๆ เช่น พูดเสียงเล็กแหลม หรือเสียงต่ำเกินไป
  6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่มีควันบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ทำลายเซลล์สายเสียงโดยตรง
  7. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อสายเสียง เช่น ชา กาแฟ และ แอลกอฮอล์
  8. หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ ควรใช้ภาชนะปากกว้างใส่น้ำวางไว้ข้างๆเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ หรือ ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ และจิบน้ำบ่อยๆ
  9. ควรพูดด้วยระดับเสียงและความดังที่เหมาะสมกับเพศและวัย
  10. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง
  11. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสจัด และควรรับประทานอาหารมื้อเย็นก่อนเข้านอน 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันโรค/ภาวะกรดไหลย้อน(ไหลกลับ) ซึ่งจะทำให้สายเสียงอักเสบได้
  12. รักษาความสะอาดของช่องปากและฟันโดย การแปรงฟันหลังอาหาร ก่อนนอน และเมื่อตื่นนอนเช้า
  13. ดื่ม หรือจิบน้ำบ่อยๆ วันละ 8-12 แก้ว (แก้วละประมาณ 250 ซีซี) เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะหลังตื่นนอน และระหว่างทำกิจกรรมในแต่ละวันเพื่อให้ความชุ่มชื้นกับช่องปากและคอ
  14. ดื่มน้ำผลไม้ (ชนิดน้ำตาลและเกลือต่ำ เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง)
  15. ควรใช้เครื่องช่วยพูด เช่น ไมโครโฟน โทรโข่ง ในกรณีที่ต้องใช้เสียงพูดติดต่อกันนานๆ หรือเมื่อสอนนักเรียนในห้องเรียน
  16. ควรควบคุมอารมณ์และจิตใจไม่ให้เครียด และทำกิจกรรมนันทนาการที่ไม่ต้องใช้เสียง เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง ฯ ให้มากขึ้น
  17. ฝึกพูดให้ช้าลง และหายใจทางจมูกเพื่อให้มีลมหายใจเข้าในปริมาณมาก และเพียงพอต่อการพูด
  18. ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3– 4 วัน เพื่อความแข็งแรงของสุขภาพโดยรวม ซึ่งรวมทั้งของสายเสียงด้วย