การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (ตอนที่ 7)

จากการศึกษาผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธี HBO จำนวน 11,376 ราย พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 782 ราย ที่มีอาการแทรกซ้อน มากกว่าร้อยละ 17 ของผู้ป่วยมีอาการปวดหูหรือรู้สึกไม่สบายในหูชั้นกลางแต่ไม่เกี่ยวกับการที่ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ

[Eustachian tube เป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับช่วงคอส่วนบน มีหน้าที่ปรับความดันอากาศในหูชั้นกลางทั้งสองข้าง]

ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธี HBO อาจมีอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ

  • สายตาสั้นชั่วคราว (Myopia) เนื่องจากมีระดับออกซิเจนในเลือดที่สูง (อาการนี้จะค่อยๆ หายไปเองเมื่อจบการรักษา ซึ่งในระหว่างการรักษาอาจใช้แว่นสายตาช่วยได้)
  • หูชั้นกลางและหูชั้นในอาจได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากแรงกดอากาศที่สูง
  • อวัยวะอาจถูกทำลายเพราะการบาดเจ็บจากแรงกดดัน (Barotrauma)
  • ชัก (Seizures) เนื่องจากมีออกซิเจนที่มากในระบบประสาทส่วนกลาง (Oxygen toxicity)
  • ปวดศีรษะเล็กน้อยหลังการรักษา 2-3 นาที
  • มีอาการอ่อนเพลียหากรักษามากกว่า 1 รอบต่อวัน ซึ่งอาการจะค่อยๆ หายไปใน 2-3 วันหลังการรักษา

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังสำหรับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นพิเศษก่อนการรักษาด้วยวิธี HBO ดังนี้

  • มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ
  • เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD)
  • มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับหูหรือโพรงจมูก (Sinus squeeze)
  • มีไข้สูง (ควรรอให้ไข้ลดก่อนการรักษาด้วยวิธี HBO)
  • โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema with CO2 retention) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax) ระหว่างการรักษาด้วยวิธี HBO
  • มีประวัติการผ่าตัดช่องอก เพราะอาจทำให้อากาศเข้าไปอยู่ในรอยแผลที่เกิดจากการผ่าตัด แม้ว่ากรณีจะเกิดขึ้นได้ยากแต่ก็จำเป็นต้องทำการประเมินผลก่อนการรักษาด้วยวิธี HBO
  • มีโรคที่เป็นอันตรายอย่างมะเร็ง เพราะ HBO จะเพิ่มทั้งหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมะเร็ง (Angiogenesis) และระดับออกซิเจน

[Angiogenesis คือ กระบวนการสร้างเส้นเลือด (ฝอย) ใหม่ไปเลี้ยงเซลล์ เป็นกระบวนการพื้นฐานที่จำเป็นของสิ่งมีชีวิตในการมีชีวิตอยู่ เช่น กระบวนการซ่อมแซมตัวเองเมื่อมีบาดแผล แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในระยะแพร่กระจายกระบวนการนี้ (เชื่อกันว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติ) เป็นการสร้างเส้นเลือดฝอยไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็ว การแพทย์สมัยใหม่เชื่อว่าหากสามารถจำกัดกระบวนการนี้ได้ก็จะสามารถชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เนื่องจากไม่มีเส้นเลือดนำอาหารไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง]

แหล่งข้อมูล:

  1. Hyperbaric medicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Norovirus [2014, January 4].
  2. Hyperbaric oxygen therapy. http://www.mayoclinic.com/health/hyperbaric-oxygen-therapy/MY00829 [2014, January 5].
  3. Hyperbaric oxygen therapy. http://www.mayoclinic.com/health/hyperbaric-oxygen-therapy/MY00829 [2014, January 5].
  4. Complications and side effects of hyperbaric oxygen therapy. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10685584 [2014, January 5].