การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (ตอนที่ 4)

คนที่รักษาในห้องปรับความดันทั้ง 2 แบบ จำเป็นจะต้องปรับความดันในหูเมื่อเริ่มเพิ่มแรงดันเพื่อป้องกันไม่ให้ปวดแก้วหู เมื่อความดันถูกปรับในระดับที่เหมาะสมก็จะให้สวมหน้ากากหรือผ้าคลุมศีรษะใสเพื่อรับออกซิเจน 100% (สำหรับคนที่อยู่ในห้องปรับความดันบรรยากาศสูงชนิดคนเดียวไม่ต้องใช้ เพราะความดันถูกปรับทั่วห้องแล้ว)

ระหว่างที่อยู่ในห้องปรับบรรยากาศ ความดันอากาศจะสูงกว่าปกติประมาณ 2-3 เท่า ความดันอากาศที่เพิ่มสูงนี้จะทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กับตอนอยู่ในเครื่องบินหรืออยู่ในลิฟท์โดยสารชั้นสูงๆ

คนที่อยู่ในห้องปรับความดันสามารถพักตามสบาย จะอ่านหนังสือหรือฟังเพลงและพูดกับคนนอกห้องได้ตลอดเวลา และเมื่อใกล้ครบเวลาความดันจะค่อยๆ ปรับลดลง ทำให้รู้สึกเสียงดังในหู (Popping) โดยหลังการรักษาจะรู้สึกเบาศีรษะประมาณ 2-3 นาที

และเพื่อให้เกิดประสิทธิผล จะต้องมีการรักษาด้วยวิธี HBO มากกว่า 1 ครั้ง แต่จะเป็นจำนวนกี่ครั้งก็ขึ้นกับอาการ เช่น กรณีคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษอาจใช้เวลารักษา 3 ครั้ง หรือกรณีของแผลซึ่งรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ อาจใช้เวลารักษา 25-30 ครั้งก็ได้

สำหรับระยะเวลาในการรักษาแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไป แต่จะอยู่ระหว่างเวลา 60–90 นาที การรักษามักใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ และควรทำให้ครบตามคอร์สที่ตั้งไว้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้อาจเลื่อนการรักษาออกไป หากมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล (Runny nose) อาเจียน หรือรู้สึกไม่ค่อยสบาย

และเนื่องจากออกซิเจนสามารถทำให้เกิดการติดไฟได้เมื่อมีประกายไฟ ดังนั้นการรักษาในห้องปรับบรรยากาศจะไม่อนุญาตให้นำวัตถุที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟเข้าไป เช่น ไฟแช็ก หรือ แบตเตอรี่

ทั้งนี้ โดยปกติการรักษาด้วยวิธี HBO เป็นการใช้ออกซิเจนในการ

  • ช่วยรักษาเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บให้เป็นปกติ
  • ช่วยให้หลอดเลือดใหม่เจริญเติบโตและนำพาเลือดไปสู่ส่วนต่างๆ มากขึ้น
  • เพิ่มความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อและฆ่าแบคทีเรีย
  • ช่วยลดอาการบวมที่เกิดขึ้นรอบๆ บริเวณนั้น

ส่วนใหญ่จะมีการใช้วิธี HBO ในการรักษาผลข้างเคียงจากรังสีบำบัด เพราะรังสีสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนที่ส่งไปยังบริเวณเนื้อเยื่อที่ได้รับการบำบัด กล่าวคือ รังสีจะมีผลกับเนื้อร้ายรวมถึงเนื้อเยื่อปกติและหลอดเลือดด้วย

เพราะรังสีอาจทำลายหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ทำให้มีเลือดไหลไปบริเวณนั้นได้น้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่สำคัญได้น้อย ดังนั้นการรักษาด้วยวิธี HBO จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในบริเวณที่เนื้อเยื่อถูกทำลาย ช่วยรักษาเนื้อเยื่อได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Hyperbaric oxygen (HBO) treatment. http://www.macmillan.org.uk/Cancerinformation/Cancertreatment/Treatmenttypes/Othertreatments/Hyperbaricoxygentherapy.aspx [2014, January 2].
  2. Hyperbaric oxygen therapy. http://www.mayoclinic.com/health/hyperbaric-oxygen-therapy/MY00829 [2014, January 2].