การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (ตอนที่ 1)

นพ.ชลภัฏ จาตุรงคกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า โรคออทิสติกสามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่ในช่วงก่อนวัยเรียน หรือ 3 ขวบ โดยส่วนใหญ่มาด้วยปัญหาไม่มีภาษาพูดเมื่อถึงเกณฑ์คือ 1 ขวบ หรือเคยพูดได้แล้วอยู่ๆ หยุดพูดไป มีอาการพูดซ้ำไป ซ้ำมา พูดภาษาแปลกๆ ไม่มีความหมายที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าใจได้

รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่ครูมักแจ้งผู้ปกครองว่า เด็กไม่ชอบเข้ากลุ่ม ชอบเล่นคนเดียว ชอบอยู่ตามลำพัง สบตาน้อยถึงไม่สบตา มีพฤติกรรมชอบทำอะไรซ้ำๆ ชอบเอาของมาวางเรียงกันเป็นทางยาว ต้องนั่งเก้าอี้ตัวเดิม ถอดรองเท้าวางที่เดิมทุกวัน คับข้องใจง่าย ไม่มีความยืดหยุ่นและไม่สามารถอดทนรับการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีเดิมๆ ที่เคยชินได้ เดินเขย่ง สะบัดมือ ทุบศีรษะตัวเอง เอาศีรษะโขกกำแพง

ทั้งนี้ อาการผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบร่วมได้ในเด็กทารก สามารถสังเกตได้จากการที่เด็กไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า ไม่มองตามในอายุ 3 เดือน ไม่หันตามเสียงในอายุ 6 เดือน หรือร้องน้อยกว่าปกติ

ส่วนสาเหตุของภาวะออทิสติกนั้น นพ.ชลภัฏ กล่าวว่า เกิดจากการทำงานผิดปกติของหลายๆ ระบบในร่างกายที่เกิดร่วมกัน ส่งผลให้การรับรู้ การแสดงออกทางอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กผิดปกติไปจากเด็กอื่นทั่วไป

และเนื่องจากธรรมชาติของเด็กออทิสติกแต่ละคนจะมีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนสูง จึงทำให้ลักษณะอาการในเด็กออทิสติกแต่ละคนมีความหลากหลาย ช่วงวัยและสภาวะแวดล้อมที่แตกต่าง อาจส่งผลให้ลักษณะอาการของภาวะออทิสติกไม่ได้คงที่ตลอดเวลาและยากต่อการวินิจฉัย ทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้าออกไป ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของเด็กออทิสติกนั้นแย่ลง

ภาวะออทิสซึม (Autism) เป็นโรคหรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในเด็กเนื่องจากสมองผิดปกติ เป็นภาวะบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง ส่งผลให้การรับรู้ การแสดงออกทางอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กผิดปกติไปจากเด็กอื่นทั่วไป เด็กที่เป็นโรคนี้จะอยู่แต่ในโลกของตนเอง และขาดความสนใจที่จะมีสังคมร่วมกับคนอื่น เราเรียกเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมว่า “เด็กออทิสติก”

อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเด็กออทิสติกยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ความผิดปกติที่พบในแต่ละระบบมีความเชื่อมโยงกันในระดับใด แต่ข้อมูลจากการศึกษาของหลายสถาบันมีความเห็นใกล้เคียงกันว่า กลไกของการเกิดโรคที่สำคัญ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์สมองบางส่วนทำงานน้อยหรือไม่ทำงาน

ในการดูแลรักษาออทิสติก จำเป็นต้องอาศัยทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team

Approach) ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น (Child and Adolescent Psychiatrist) นักจิตวิทยา (Psychologist) พยาบาลจิตเวชเด็ก (Child Psychiatric Nurse) นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย (Speech Therapist) นักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) ครูการศึกษาพิเศษ (Special Educator) นักสังคมสงเคราะห์ (Social Worker) ฯลฯ

แหล่งข้อมูล:

  1. รักษา “ออทิสติก” ด้วยเครื่องออกซิเจนแรงดันสูง http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000153572 [2013, December 1].
  2. Autism Spectrum Disorder. http://www.dmh.go.th/downloadportal/Morbidity/Autistic.pdf [2013, December 30].