ลมชัก:การรักษาด้วยยากันชัก

การรักษาด้วยยากันชัก

การรักษาโรคลมชักนั้นมีหลายวิธี วิธีที่นิยมมากที่สุด หรือกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ในเกือบทุกคน คือ การรักษาด้วยากันชัก การรักษาด้วยยากันชักนั้นสามารถรักษาได้ในทุกสถานพยาบาลในประเทศไทย เพราะมียากันชักที่มีความจำเป็นในทุกโรงพยาบาล ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับวิธีการรักษาด้วยยากันชักอย่างดีกันดีกว่า

การทานยากันชักที่ถูกต้อง

  • ทานยากันชักตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ต้องไม่ลืม และควรทานยากันชักให้ตรงเวลาทุกๆ วัน ยาก่อนนอนก็ควรทานให้ห่างจากอาหารเย็นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ห้ามหยุดยาเองยกเว้นจะมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เช่น ผื่นแพ้ยาแบบลมพิษ แพ้แบบแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผื่นผุพองในปาก หายใจไม่ออก
  • ถ้ามีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าจะเป็นผลข้างเคียงจากยากันชัก ให้ปรึกษาแพทย์ด้วยเสมอ อย่าใช้วิธีการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หรือสอบถามจากคนรู้จักเพียงอย่างเดียว ควรปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยเสมอ เพื่อลดปัญหาการเข้าใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
  • ยากันชักต้องทานเป็นระยะเวลานานประมาณ 3-5 ปี ต้องควบคุมอาการชักได้อย่างน้อย 2 ปี แล้วแพทย์จะค่อยๆ ลดยากันชักลงอย่างช้าๆ

ถ้าลืมทานยากันชัก ทำอย่างไร

  • กรณีทานยากันชักวันละครั้งก่อนนอน ตื่นเช้าวันต่อมานึกออกว่าลืมทานยาก่อนนอนเมื่อคืนที่ผ่านมา ก็ให้นำยาของเมื่อคืนที่ผ่านมาและไม่ได้ทานมาทานได้เลย และของวันนี้ก็ทานก่อนนอนตามปกติ แต่ถ้านึกออกตอนบ่ายๆ ของวันต่อมา ก็ให้นำยาก่อนนอนของวันนี้ (วันที่นึกออก วันปัจจุบัน) มาทานเลย โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาก่อนนอน และไม่ต้องนำยาก่อนนอนของวันก่อนที่ลืมมทานเป็น 2 เท่า
  • กรณีทานยากันชักวันละหลายครั้ง ถ้าลืมทาน แล้วนึกออกได้เร็ว หลังเวลาที่ต้องทานไปไม่นาน ก็ให้รีบทานยาที่ลืมทันที แต่ถ้านึกออกหลังจากลืมไปนาน และใกล้กับมื้อถัดไป ก็ให้รีบนำยาที่ต้องทานในมื้อต่อไปมาทานแทนได้เลย ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่านะครับ

ห้ามนำยากันชักที่ลืมมาทานเป็นขนาด 2-3 เท่าตามขนาดทานยากันชักที่ลืมทานนะครับ อันตราย