ลมชัก:การรักษาด้วยยากันชัก

การรักษาด้วยยากันชัก
  • โรคลมชักเป็นโรคเรื้อรัง การรักษามีเป้าหมาย คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้มีอาการชัก และครอบครัว การรักษาไม่ใช่รักษาเพียงแค่อาการชักเท่านั้น และการมีอาการชักก็ไม่ใช่ต้องให้ยากันชักเสมอไป การรักษาที่เหมาะสม คือ การรักษาอาการชักที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เช่น ชักรุนแรง ชักซ้ำหลายครั้ง ชักแล้วเกิดอุบัติเหตุ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มรักษาด้วยยากันชักเมื่อมีอาการชักซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น หรือการชักแบบต่อเนื่อง (status epilepticus) เพียงครั้งเดียว
  • การรักษานั้นต้องควบคุมไม่ให้มีการชักต่อเนื่องนานตั้งแต่ 2 ปี และทางแพทย์ได้พูดคุยกับทางผู้มีอาการชัก ครอบครัว มีความเห็นร่วมกันว่าการหยุดยากันชักนั้นมีประโยชน์มากกว่า ความเสี่ยงในการหยุดยา เช่น การชักซ้ำ อันตรายจากการชักซ้ำ
  • การหยุดยากันชัก แพทย์จะค่อยๆ ลดขนาดยากันชักลงอย่างช้าๆ ไม่ได้ลดลงหรือหยุดยาทันที ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลานานประมาณ 6-12 เดือน
  • การหยุดยากันชักห้ามหยุดยาทันที เพราะจะเกิดการชักแบบรุนแรง จึงห้ามหยุดยากันชักทันที ยกเว้นการแพ้ยาแบบรุนแรง เช่น ผื่นแพ้ยาแบบไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หายใจไม่ออก

การทานยากันชักที่ถูกต้อง

  • การทานยากันชักต้องทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลาทุกๆ วัน
  • ไม่คววรมีการปรับเปลี่ยนขนาดยากันชักเอง หรือเพิ่มการทานยากันชักภายหลังจากการมีอาการชักทุกครั้ง เพราะจะทำให้เกิดปัญหายากันชักเกินขนาดได้
  • ไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดยากันชักเอง เพราะเห็นว่ายังคุมอาการชักไม่ได้ หรือปรับลดขนาดลงเอง เพราะเห็นว่าอาการชักควบคุมได้ การปรับเปลี่ยนลด เพิ่มส่งผลเสียต่อการรักษาทั้งสิ้น
  • กรณีเจ็บป่วย และต้องได้รับยารักษาโรคเพิ่มเติม ให้แจ้งแพทย์ด้วยเสมอว่าทานยากันชักอะไรบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการตีกันระหว่างยากันชักกับยารักษาโรค (drug interaction: อันตรกิริยา) อย่าหยุดยากันชักเอง เพราะผู้มีอาการชักมักคิดว่าจะมีการตีกันระหว่างยากันชักกับยารักษาโรคใหม่ จึงหยุดยากันชักเอง การหยุดยากันชักเองส่งผลเสียอย่างยิ่ง เพราะอาจก่อให้เกิดอาการชักรุนแรงแบบต่อเนื่อง (status epilepticus)
  • ถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ ให้รีบแจ้งแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลทันที เพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาด้วยยากันชักที่ถูกวิธีและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ส่งผลให้การรักษาได้ผลดี มีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 60