การดูแลผู้สูงอายุ: ศาสตร์สำคัญในยุคปัจจุบัน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

วิทยาลัยชุมชนระนอง เปิดหลักสูตรอนุปริญญาสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างของประชากรที่ปัจจุบันเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น หลังจบการศึกษาแล้วจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน [เช่น ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน] หรือประกอบเป็นอาชีพได้

เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatrics) เป็นสาขาหนึ่งของอายุกรรม (Internal medicine) และเวชศาสตร์ครอบครัว (Family medicine) ที่เน้นหนักการดูแลผู้ป่วยสูงวัยโดยเฉพาะ บางครั้งเรียกว่า “Medical Gerontology” (Gerontology = กระบวนการชราภาพ)

การสำแดงของโรคในผู้สูงวัยอาจคลุมเครือ ไม่สามารถระบุชัด อาจรวมถึงอาการเพ้อเลื่อนลอย (Delirium) หรือหกล้ม ตัวอย่างเช่น โรคปอดบวม (Pneumonia) อาจเริ่มจากไข้ต่ำ การขาดน้ำ (Dehydration) อาการสับสนและหกล้ม มากกว่าการมีไข้สูงและไอเหมือนในคนไข้วัยกลางคนทั่วไป

ปัญหาใหญ่ของความเสื่อมสังขารที่ปรากฏในผู้สูงอายุ ได้แก่การเคลื่อนไหวลำบาก อาการโคลงเคลง การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Incontinence) รวมถึงความเสื่อมของสติปัญญาและความจำ ผู้สูงอายุอาจพบว่าไม่สามารถอธิบายอาการเป็นคำพูดง่ายๆได้ โดยเฉพาะโรคที่ก่อให้เกิดความสับสน หรืออาจเพราะพวกท่านมีความจำเสื่อม

อาการเพ้อเลื่อนลอย ในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น ท้องผูก (Constipation) หรืออาจก่อปัญหาใหญ่ที่คุกคามชีวิต เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน/อาการหัวใจล้ม (Heart attack) หลายปัญหาที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่ป้องกันและรักษาได้หากมีการค้นพบต้นตอของปัญหาแต่เนิ่นๆ

ความเสื่อมในเรื่องการมองเห็นและการได้ยินเป็นปัญหาเรื้อรังที่พบได้ในคนที่อายุมากขึ้น การมีปัญหาในการได้ยินอาจนำไปสู่การแยกตัวจากสังคม ความหดหู่/อาการซึมเศร้า หรือทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นเพราะไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการคุยโทรศัพท์ หรือการสื่อสารง่ายๆ เช่น กับพนักงานธนาคาร หรือพนักงานร้านค้า

การมีปัญหาในการมองเห็นนำไปสู่การหกล้มเนื่องจากมองไม่เห็นสิ่งกีดขวาง หรืออาจกินยาผิดเพราะมองไม่เห็นฉลากยา นอกจากนี้การมีปัญหาในการใช้งานอวัยวะต่างๆ ความเป็นภาระต้องพึ่งพาผู้อื่น และคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องที่นักเวชศาสตร์ผู้สูงอายุให้ความสำคัญมาก

คนปรกติทั่วไปมักต้องการพึ่งพาตนเองจนถึงที่สุด ซึ่งคือการต้องทำกิจวัตรประจำวัน และกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างวัน นักเวชศาสตร์ผู้สูงอายุสามารถให้ข้อมูลทางเลือกการดูแลผู้สูงวัย หรือให้ข้อมูลการบริการดูแลที่บ้าน แก่ญาติๆพยาบาลวิชาชีพ และศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุ

ผู้สูงวัยที่เปราะบาง (Frail) มักเลือกที่จะปฏิเสธการบำบัดรักษาตามปรกติ เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลที่ได้ว่าคุ้มกับความเสี่ยงหรือไม่ เช่นสตรีสูงวัย มักจะหยุดรับการคัดกรองเต้านม (Mammogram screening) เพราะมะเร็งเต้านม (Breast cancer) มักจะวิวัฒนาช้าและไม่ทำให้เจ็บปวด ซึ่งเธอก็อาจเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นไปก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ผู้สูงวัยที่เปราะบาง มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และต้องการดูแลที่เอาใจใส่เพิ่มเติม รวมถึงการพยากรณ์โรคที่แม่นยำ โดยอาศัยมาตรชี้วัดที่สมเหตุผลชี้แจงได้ (มากกว่าเพียงดูว่าคนไข้หน้าตาบ่งบอกอายุอย่างไร) ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีข้อมูลครบถ้วนเพื่อการตัดสินใจทางเลือกในการเยียวยา หรือผ่าตัด

แหล่งข้อมูล:

  1. ว.ชุมชนระนอง เปิดสอนวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033201 [2012, March 19].
  2. Geriatrics. http://en.wikipedia.org/wiki/Geriatrics [2012, March 19].