การดูแลผู้สูงอายุ: ศาสตร์สำคัญในยุคปัจจุบัน (ตอนที่ 1)

ในยุคที่ประเทศไทยพัฒนาโครงสร้างสังคมไปในแนวทางครอบครัวเดี่ยวแทนครอบครัวใหญ่ แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลง และจำนวนประชากรสูงวัยที่มีอายุยืนขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่นการแพทย์การสาธารณสุขที่ดีขึ้น ธุรกิจที่เรียกว่า เนอสเซอรี่ผู้สูงอายุ ก็กลายเป็นธุรกิจที่มาแรง เป็นวิวัฒนาการตามความจำเป็นที่วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป วิทยาลัยชุมชนระนอง ก็มีส่วนตอบสนองความต้องการของสังคมด้วย

นางพรชิต ศรีบุญจิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนระนอง กล่าวว่า วิทยาลัยชุมชนระนองได้เปิดสอนระดับอนุปริญญาสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุชุมชน เป็นหลักสูตรเปิดใหม่ เริ่มในปีการศึกษา 2555 นี้ โดยได้รับอนุมัติจากคณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาการอุดมศึกษาแล้ว

เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatrics) เป็นศาสตร์เฉพาะทางที่เน้นการดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ มีเป้าหมายในการการรักษาและส่งเสริมสุขภาพโดยการป้องกันจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บ และความทุพพลภาพ (Disability) ในคนสูงอายุ โดยทั่วไปไม่ได้มีการระบุอายุคนไข้ที่จะอยู่ในการดูแลของนักเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ อยู่ที่การใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคล รวมถึงอุปทาน (Supply) ของบุคลากรทางการแพทย์

ร่างกายของผู้สูงอายุจะมีความแตกต่างทางกายภาพจากวัยผู้ใหญ่ จะพบว่าความเสื่อมสภาพของระบบอวัยวะต่างๆ จะปรากฏออกมาเป็นระยะ วิถีชีวิตและการใช้ร่างกายอย่างที่เคยมีมาก่อน ก็อาจก่อให้เกิดความไม่สบายหรือเจ็บป่วยได้หลายประการ การปรากฏของโรคขึ้นอยู่กับต้นทุนความแข็งแรงที่เหลืออยู่ในร่างกาย เช่น คนที่สูบบุหรี่ได้ใช้งานระบบหายใจไปอย่างหนักไปแล้วในวัยหนุ่มสาว อาจเรียกว่า “ผู้เหลือทุนต่ำ”

นักเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแยกระหว่างโรคภัยไข้เจ็บกับความชราภาพ ตัวอย่างเช่น ความเสื่อมของระบบไต (Renal impairment) เป็นส่วนหนึ่งของความชราภาพ แต่อาการไตวาย (Renal failure) และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้น (Urinary incontinence) ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งความชราภาพ นักเวชศาสตร์ผู้สูงอายุมีเป้าหมายที่จะจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นและลดผลกระทบของความชราภาพในร่างกาย

ความชราภาพนำมาซึ่งความซับซ้อนในการดูแลรักษาแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) อาจมีสาเหตุเพียงกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (Gastroenteritis) หรือติดเชื้อ รวมถึงการบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ เช่น การเป็นไข้ต่ำๆ ในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดอาการสับสน ที่อาจรุนแรงจนทำให้หกล้ม แล้วกระดูกคอหรือกระดูกสะโพกถึงขั้นซ้นหรือหัก

การสั่งยาให้ผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องค่อนข้างปรกติที่ผู้สูงอายุจะได้รับยาจากหลายแหล่งหลายหมอ (Polypharmacy) บางคนได้รับการรักษาที่ทับซ้อนกันวุ่นวาย เช่น ผู้สูงวัยบางคนได้ซื้อหายาสมุนไพรหรือยาตามร้านขายยาบริโภคเอง แพทย์บางคนก็ได้สั่งยาให้คนไข้โดยไม่ได้ตรวจสอบก่อนว่ามีการรักษาด้วยยาอะไรอยู่แล้วบ้าง การให้ยาซ้ำซ้อนนี้อาจมีผลให้ตัวยาหลายอย่างทำปฏิกริยากันเอง (Drug interaction)

เคยมีการศึกษาที่พบว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่คนไข้จะใช้ยาทั้งที่แพทย์สั่งพร้อมกับยาอื่นๆดังกล่าว และร้อยละ 4 ของคนไข้มีโอกาสที่เกิดความเสี่ยงจากการทำงานของยาหลักซ้ำซ้อน และทำปฏิกิริยากันในทางลบ (Adverse drug reaction: ADR) เนื่องจากยาจะถูกขับออกจากร่างกายด้วยตับและไต ทำให้ไม่ตับก็ไตของผู้สูงวัยจะเสื่อมเร็ว ควรมีการปรับยาไม่ให้ซ้ำซ้อนเพื่อลดการทำงานหนักของตับและไตโดยใช่เหตุ

แหล่งข้อมูล:

  1. ว.ชุมชนระนอง เปิดสอนวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033201 [2012, March 18].
  2. Geriatrics. http://en.wikipedia.org/wiki/Geriatrics [2012, March 18].