การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณปอด

สารบัญ

ทั่วไป

การฉายรังสีรักษาบริเวณปอดมักเป็นการฉายรังสีสำหรับโรคมะเร็งปอดหรือโรคมะเร็งหลอดอาหาร หรือ โรคมะเร็งชนิดอื่นๆที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น โรคมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง ในช่องปอด การฉายรังสีในบริเวณนี้จะฉายรังสีครอบคลุมก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองในช่องอกตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละโรคและตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

ทระหว่างฉายรังสีรักษามะเร็งปอดมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ดูแลอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้ในระหว่างฉายรังสีในโรคมะเร็งปอด ได้แก่

  • การเปลี่ยนแปลงและการดูแลผิวหนังในบริเวณที่ฉายรังสี ( การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา )
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้เล็กน้อย มักมีอาการไม่รุนแรง หากมีอาการมาก แพทย์รังสีรักษาจะให้ยาช่วยบรรเทาอาการ
  • กลืนอาหารลำบาก เนื่องจากฉายรังสีถูกหลอดอาหารบางส่วน (หลอดอาหารเป็นอวัยวะหนึ่งที่อยู่ในช่องอก) อาจทำให้ผู้ป่วยกินอาหารปกติลำบากมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสจืด หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการมากแพทย์รังสีรักษาอาจพิจารณาให้ยาช่วยเพื่อบรรเทาอาการ
  • ไอมากขึ้น อาจมีเสมหะปนเลือดได้ เนื่องจากฉายรังสีถูกหลอดลมและถูกปอดบางส่วน ผู้ป่วยควรจิบน้ำบ่อยๆเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่ง แพทย์รังสีรักษาจะให้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรือหากสงสัยมีการติดเชื้อร่วมด้วยอาจให้ยาปฏิชีวนะเพิ่มเติม
  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ไอเป็นเลือดมากขึ้น กลืนอาหารลำบากจนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีไข้สูง ให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์รังสีรักษาหรือถ้าเป็นในช่วงที่ไม่สามารถพบแพทย์รังสีรักษาได้ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นก่อน
  • หากเป็นผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ผู้ป่วยควรคุมกำเนิดทั้งในระหว่างฉายรังสีจนกระทั่งฉายรังสีครบ รวมไปถึงจนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ และไม่มีโรคมะเร็ง ย้อนคืนกลับมาแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์รังสีรักษาก่อนการตั้งครรภ์ เพราะหากต้องทำการรักษาในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกพิการ หรือเสียชีวิตได้

เมื่อฉายรังสีรักษามะเร็งปอดครบแล้วมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง? และดูแลอย่างไร?

ผลข้างเคียง หลังครบรังสีรักษาแล้ว ในโรคมะเร็งปอด ได้แก่

  • อาจมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ( การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา )
  • อาจมีพังผืดในปอดได้ แต่เฉพาะบริเวณที่ฉายรังสีเท่านั้น ซึ่งมักไม่แสดงอาการอะไร แต่ตรวจพบได้จากเอกซเรย์ปอด แต่อาจมีอาการไอเรื้อรังได้ประมาณ 5-10% ซึ่งแพทย์รังสีรักษาจะให้ยาช่วยเพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยได้ในทางเดินหายใจ แพทย์รังสีรักษาจะให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย แต่ หากผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นอาจทำให้มีอาการเหนื่อย หายใจลำบาก อาจต้องมีการใช้ออกซิเจนช่วยเพื่อบรรเทาอาการร่วมด้วย
  • อาจกลืนอาหารติด กลืนอาหารลำบากมากขึ้น เนื่องจากเกิดพังพืดในบริเวณหลอดอาหารส่วนที่ได้รับรังสี ทำให้หลอดอาหารบริเวณนั้นตีบแคบลงได้ (รักษาไม่หาย)
  • อาจมีไขสันหลังอักเสบในบริเวณที่ฉายรังสี ทำให้เกิดอัมพาตได้ประมาณ 5-10% (รักษาไม่หาย) แพทย์รังสีรักษาจะให้ยาบรรเทาอาการตามความเหมาะสม
  • มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดที่สองได้ประมาณ 10-15% ในบริเวณที่ฉายรังสีรักษา หากผู้ป่วยอยู่ได้นาน (ส่วนใหญ่มักนานกว่า 10 ปี)

ควรรีบพบรังสีรักษาแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หอบ เหนื่อยมากขึ้น ไอเป็นเลือดมากขึ้น กลืนอาหารลำบากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้ มีไข้สูง แขนขาอ่อนแรง ให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์รังสีรักษา หรือถ้าเป็นในช่วงที่ไม่สามารถพบแพทย์รังสีรักษาได้ ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นก่อน