“กากอุตสาหกรรม” ตัวขยะเจ้าปัญหา? (ตอนที่ 2)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ บ่อกำจัด “กากอุตสาหกรรม” ของบริษัท แบตเตอร์เวิร์ลกรีน จำกัดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนร้องเรียน ทั้งเหตุรำคาญ และ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้มอบหมายให้กำกับดูแลแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งนี้ “การจัดการของเสีย” (Waste management) แบ่งเป็นหลายวิธี ได้แก่ การฝังกลบ การเผาทำลาย การนำกลับไปผลิตใหม่

การฝังกลบ (Landfill) เป็นวิธีการที่ใช้มากที่สุดในหลายประเทศ สถานที่ฝังกลบมักเป็นเหมืองร้าง หรือหลุมบ่อ (Borrow pits) การออกแบบและจัดการการฝังกลบที่ดีสามารถทำให้เกิดสุขอนามัยและเป็นวิธีที่ใช้ต้นทุนไม่สูงนัก ในขณะที่การออกแบบและจัดการการฝังกลบที่ไม่ดีสามารถทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ขยะที่ปลิวว่อนหรือเรี่ยราด เป็นที่แพร่พันธุ์ของหนอนพยาธิ และทำให้เกิดการซึมชะของของเหลว (Liquid leachate)

นอกจากนี้การฝังกลบยังทำให้เกิดก๊าซซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเหล่านี้ก่อให้ปัญหาเรื่องกลิ่น ทำลายการเจริญเติบโตของพืชบนผิวดิน และเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Greenhouse gas) แต่การฝังกลบสมัยใหม่จะตระหนักถึงเรื่องการซึมชะโดยมีการบุรอง มีการอัดตัวขยะให้แน่นเพื่อเพิ่มความหนาแน่นและความคงตัว แล้วปกคลุมให้มิดชิดเพื่อป้องกันหนู หนอนพยาธิ ฯลฯ การฝังกลบหลายแห่งจะมีระบบการแยกก๊าซไปตามท่อเพื่อใช้เป็นก๊าซผลิตไฟฟ้าต่อไป

การเผาทำลาย (Incineration) เป็นวิธีการกำจัดของเสียโดยผ่านกระบวนการสันดาป เพื่อให้อยู่ในรูปของซากและก๊าซ วิธีนี้จะช่วยลดปริมาตรของของแข็งได้ร้อยละ 20–30 การเผาเป็นเถ้าโดยใช้อุณหภูมิที่สูงบางครั้งก็เรืยกว่า "Thermal treatment" โดยเปลี่ยนสภาพของเสียให้เป็นความร้อน ก๊าซ ไอน้ำ และเถ้าถ่าน

การเผาทำลายใช้ในการกำจัดของเสียที่อยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว และก๊าซ มักใช้ในการทำลายวัตถุที่มีอันตราย เช่น ขยะทางการแพทย์ (Biological medical waste) เป็นวิธีที่การกำจัดของเสียที่ทำให้เกิดปัญหาการโต้แย้งกันเสมอ เนื่องจากวิธีนี้ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ การเผาทำลายเป็นวิธีที่ใช้กันมากในประเทศที่มีพื้นที่น้อย เช่น ญี่ปุ่น

“ขยะเป็นพลังงาน” (WtE = Waste-to-energy) หรือ “พลังงานจากขยะ” (EfW = Energy-from-waste) เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้ในการกล่าวถึงการเผาทำลายในเตาหลอมหรือหม้อน้ำ เพื่อทำให้เกิดความร้อน ไอน้ำ หรือไฟฟ้า การสันดาปในการเผาทำลายอาจไม่สมบูรณ์และก่อให้เกิดมลภาวะในก๊าซที่ปล่อยออกมา เช่น ก๊าซ Dioxins ก๊าซ Furans ก๊าซ PAHs (=Polycyclic aromatic hydrocarbons) ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม

การนำกลับไปหมุนเวียนใหม่ (Recycling) เป็นการรวบรวมและนำวัตถุที่ทิ้งแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น ขวดบรรจุเครื่องดื่มที่เป็นกระป๋องอลูมิเนียม ทองแดงจากสายไฟ กระป๋องเหล็ก เฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์เก่าที่ทำจากเหล็ก ขวดพลาสติก PE (=Polyethylene) ขวดพลาสติก PET (=Polyethylene terephthalate) ขวดแก้ว กระดาษหนังสือพิมพ์ วารสาร และกล่องกระดาษลูกฟูก ทั้งนี้พลาสติกประเภท PVC (=Polyvinyl chloride) LDPE (=Low-density polyethylene) PP (=Polypropylene) และ PS (=Polystyrene) ก็สามารถนำมาหมุนเวียนใหม่ได้

ทั้งนี้ แนวความคิดใน “การจัดการของเสีย” ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปจะใช้หลักปฏิบัติของ "3 Rs" คือ

  1. ปรับปรุงกระบวนการผลิตไม่ให้มีกากของเสียหรือมีน้อยที่สุด (Reduce)
  2. นำกากของเสียที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และ
  3. นำกากของเสียที่เกิดขึ้นกลับไปหมุนเวียนใหม่ (Recycle) นอกจากนี้ยังมีหลักว่าผู้สร้างมลภาวะควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อภาระค่าใช้จ่ายด้วย (Polluter pays principle)

แหล่งข้อมูล:

  1. รมช.สาธารณสุขตรวจเยี่ยมจุดให้บริการตรวจสุขภาพ ปชช.พื้นที่สระบุรี http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000058272 [2012, May 22].
  2. Waste management. http://en.wikipedia.org/wiki/Waste_management [2012, May 22].