กล้ามเนื้อปวดล้าจากการทำงาน (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

สำหรับการรักษาอาการ นพ.ภรชัย กล่าวว่า สามารถใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากปวดมากสามารถใช้ยาทาควบคู่กับยาชนิดรับประทานได้

หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดเป็นโรคเรื้อรังตามมาได้ เช่น เส้นเอ็นยึดกระดูกอักเสบ ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ การบวมอักเสบของข้อต่อที่หัวไหล่ และพังผืดทับเส้นประสาทข้อมือ ทำให้เกิดอาการมือชา โดยหากกายภาพบำบัดเป็นเวลานาน แล้วยังไม่หาย อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

การรักษา WMSDs จะใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การจำกัดการเคลื่อนไหว การประคบร้อนหรือ เย็น การออกกำลังกาย การกินยาและการผ่าตัด

การจำกัดการเคลื่อนไหว (Restriction of Movement) เป็นสิ่งแรกของการรักษา WMSDs เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ บางกรณีอาจมีการย้ายงาน มีการเข้าเฝือกไว้เพื่องดการเคลื่อนไหวหรือตรึงข้อที่บาดเจ็บเอาไว้ อย่างไรก็ดีต้องระวังเกี่ยวกับการเข้าเฝือกให้ดี เพราะหากใช้ไม่ถูกแล้วอาจเกิดผลเสียมากกว่า และเพื่อให้การเข้าเฝือกได้ผล ควรหยุดการการทำงานที่ก่อให้เกิดปัญหา เพราะถ้ายังทำงานนั้นอยู่ พนักงานอาจมีความเสี่ยงในการทำร้ายข้ออื่นๆ ที่ใช้ทำงานแทนส่วนที่เข้าเฝือกอยู่

การประคบร้อนหรือเย็น เพื่อคลายอาการปวดและอาจเร่งกระบวนการฟื้นฟูได้ แนะนำให้ใช้การประคบร้อนกับการคลายอาการปวดเล็กน้อย แต่ไม่แนะนำให้ใช้กับอาการที่อักเสบและบวม เพราะความร้อนจะเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและทำให้บวมมากขึ้น ควรประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดและบวม

การออกกำลังกายจะมีประโยชน์เพราะช่วยเพิ่มการไหลเวียนและลดความตึงของกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ดีผู้ที่เป็น WMSDs ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เพราะการยืดหรือออกกำลังกายบางอย่างอาจทำให้อาการแย่ลงก็ได้

การกินยาและการผ่าตัด ยาลดการอักเสบสามารถใช้ลดอาการปวดและอักเสบ หากไม่ได้ผลแพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดได้

ในท้ายที่สุด นพ.ภรชัย ได้ฝากความถึง 3 ฝ่าย ได้แก่

  1. เจ้าของธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพบุคลากร โดยดูแลเครื่องใช้สำนักงานให้ถูกสุขลักษณะ มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่ง เพื่อลดการทำงานซ้ำๆ เป็นต้น
  2. รัฐบาลควรกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพบุคลากร หรือออกมาตรการจูงใจต่างๆ และ
  3. พนักงานและบุคคลทั่วไป ควรใส่ใจการปรับท่ายืน เดิน นั่ง ให้ถูกต้อง เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงในการทำงานต่างๆ และดูแลสุขภาพ ระวังอย่าให้เครียดมากเกินไป มิฉะนั้นปัญหาของโรค WMSDs ก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม

แหล่งข้อมูล:

  1. ′กล้ามเนื้ออ่อนล้า′ โรคฮิตพนักงานออฟฟิศ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1387332598&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2014, January 21].
  2. Work-related Musculoskeletal Disorders (WMSDs). http://www.ccohs.ca/oshanswers/diseases/rmirsi.html [2014, January 21].