กล้ามเนื้อปวดล้าจากการทำงาน (ตอนที่ 5)

ทั้งนี้ เราอาจป้องกัน WMSDs ได้โดยออกแบบงาน (Job design) เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานในท่าซ้ำๆ ซึ่งอาจใช้เครื่องจักรแทน หรือมีการหมุนเวียนงาน (Job rotation) การเพิ่มปริมาณงาน (Job enlargement) การเพิ่มคุณค่าในงาน (Job enrichment) หรือการทำงานเป็นทีม (Teamwork) การออกแบบสถานที่ทำงาน (Workplace design) อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และการปฏิบัติงาน (Work practices) ที่เหมาะกับสรีระ

การใช้เครื่องจักร (Mechanization) เป็นวิธีหนึ่งในการกำจัดการทำงานซ้ำๆ การหมุนเวียนงาน (Job rotation) ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ต้องให้พนักงานได้ทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อที่ต่างกันไป ทั้งนี้เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ตึงได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้ อย่างไรก็ดี การหมุนเวียนงานอย่างเดียวก็อาจไม่เกิดผลมากนักหากไม่มีการออกแบบสถานที่ทำงานให้ดี หรือยังคงเป็นงานที่ต้องอาศัยความเร็วในการทำ

การเพิ่มปริมาณงาน (Job enlargement) เป็นการเพิ่มความหลากหลายของงาน เพื่อหนีภาวะซ้ำซากของงาน เป็นกระจายภาระส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายที่มากเกินไป (Overload)

ส่วนการเพิ่มคุณค่าในงาน (Job enrichment) เป็นกิจกรรมด้านการบริหารจัดการที่เน้นการออกแบบลักษณะงาน ให้พนักงานเกิดความรับผิดชอบในงานของตน มีอิสระสามารถบริหารจัดการงานนั้นด้วยตนเอง (Autonomy)

การทำงานเป็นทีม (Teamwork) สามารถช่วยให้เกิดความหลากหลายในงาน ทั้งทีมจะมีส่วนร่วมในการวางแผนและแบ่งงานกันทำ แต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุผล ทำให้พนักงานสามารถเปลี่ยนงานระหว่างกันได้ ช่วยลดความเสี่ยงของ WMSDs

การออกแบบสถานที่ทำงาน (Workplace design) เป็นการออกแบบเพื่อให้เหมาะกับพนักงาน สถานีงาน (Workstation) ควรออกแบบให้ปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้พนักงานเลือกที่จะทำงานในท่ายืนหรือท่านั่งก็ได้ และเหมาะกับขนาดสัดส่วนของร่างกาย

การออกแบบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ (Tools and Equipment Design) จะช่วยลดการใช้แรงของคนงาน เป็นการสงวนการใช้กล้ามเนื้อในท่าที่ไม่สะดวกสบาย เครื่องมือที่ดีจะช่วยลดแรงตึงของกล้ามเนื้อ

การปฏิบัติงาน (Work Practices) การออกแบบงานที่ดีทั้งสถานที่และเครื่องมือเครื่องไม้จะช่วยให้พนักงานลดการเคลื่อนไหวของคอ ไหล แขนขาส่วนบนที่ไม่จำเป็น ควรมีการฝึกอบรมพนักงานที่ต้องทำงานหน้าที่ซ้ำๆ ถึงการปรับสถานที่ทำงานให้เหมาะกับงานและตัวบุคคล และสอนถึงประโยชน์ของการพักช่วงสั้นๆ ระหว่างการทำงานเพื่อการคลายกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้อาจสร้างโปรแกรมสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิด WMSDs ด้วย เช่น การออกกำลังกายที่ช่วยลดการปวดหลัง การลดน้ำหนักที่ช่วยลดการปวดข้อ และการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Work-related Musculoskeletal Disorders (WMSDs). http://www.ccohs.ca/oshanswers/diseases/rmirsi.html [2014, January 20].