กล้ามเนื้อปวดล้าจากการทำงาน (ตอนที่ 3)

การบาดเจ็บของเส้นเอ็น – เส้นเอ็นประกอบด้วยกลุ่มของเส้นใย (Fibres) ที่ทำให้กล้ามเนื้อยึดกับกระดูก ความผิดปกติของเส้นเอ็นเกิดขึ้นเพราะมีการใช้งานซ้ำๆ บ่อยๆ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เส้นเอ็นที่มีปลอกหุ้มเอ็น (Tendons with sheaths) ซึ่งพบบริเวณมือและข้อมือ และเส้นเอ็นที่ไม่มีปลอกหุ้มเอ็น (Tendons without sheaths) ซึ่งพบบริเวณไหล่ ข้อศอก และปลายแขน (Forearm)

ภายในปลอกหุ้มเอ็นจะมีเซลล์ที่ผลิตน้ำหล่อลื่นเส้นเอ็น เมื่อมีการใช้งานมือซ้ำๆ หรือเคลื่อนไหวมากเกิน จะทำให้ระบบหล่อลื่นของเส้นเอ็นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะเป็นกรณีผลิตสารหล่อลื่นไม่พอ หรือกรณีผลิตสารหล่อลื่นที่มีคุณภาพไม่ดี

ทำให้เป็นสาเหตุของการอักเสบและบวมบริเวณเส้นเอ็น การอักเสบซ้ำๆ ทำให้เกิดพังผืด (Fibrous tissue) หนาตัวขึ้นบริเวณปลอกหุ้มเอ็น ซึ่งขัดขวางการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็น

การอักเสบที่ปลอกหุ้มเอ็นนี้เรียกว่า ปลอกเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tenosynovitis) เมื่ออักเสบ ปลอกหุ้มเอ็นอาจจะบวมด้วยสารหล่อลื่นและทำให้เกิดตุ่มให้ผิวหนังที่เรียกว่า ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion cyst)

สำหรับเส้นเอ็นที่ไม่มีปลอกหุ้มเอ็นจะเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย หากมีการใช้ท่าทางซ้ำๆ เพราะเมื่อเส้นเอ็นตึงเส้นใย (Fibres) ของเส้นเอ็นอาจฉีกขาดได้ ทำให้เส้นเอ็นหนาและขรุขระ เกิดการอักเสบ หรือในบางกรณี เช่น กรณีของไหล่ซึ่งเส้นเอ็นจะอยู่ระหว่างช่องว่างเล็กๆ ระหว่างกระดูก โดยมีถุงน้ำลดการเสียดสีที่เรียกว่า Bursa อยู่ด้วย เมื่อเส้นเอ็นหนาและขรุขระ ตุ่มถุงน้ำจะมีการเสียดสีและอักเสบ เรียกว่า การอักเสบของถุงน้ำลดการเสียดสี (Bursitis)

การบาดเจ็บของเส้นประสาท - เส้นประสาทเป็นตัวส่งสัญญาณจากสมองไปควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และนำข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ ความเจ็บปวด และการสัมผัสของร่างกายไปสู่สมอง เพื่อควบคุมให้ร่างกายทำหน้าที่ เช่น เหงื่อไหล น้ำลายไหล เส้นประสาทจะถูกล้อมด้วยกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น t(Tendons) และเอ็นยึด (Ligament) ท่าทางที่ซ้ำๆ และท่าทางที่ไม่สบายจะทำให้เนื้อเยื่อรอบเส้นประสาทปวดและบีบหรือกดทับเส้นประสาท

การกดทับเส้นประสาทนี้จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีความรู้สึกเหน็บชา (Pins and needles) นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการผิวแห้งและไม่ค่อยมีการไหลเวียนไปยังปลายเท้าปลายมือ

โดยทั่วไปอาการของ WMSDs มักปรากฏด้วยอาการปวด บางทีอาจจะมีลักษณะเมื่อยข้อ กล้ามเนื้อตึง แดง และบวม เป็นเหน็บ ชา และมีตั้งแต่อาการอ่อนไปยังอาการรุนแรง

อาการอ่อนระยะแรก มักจะเริ่มที่การปวดล้าบริเวณแขนขาระหว่างการทำงาน แต่อาการจะหายไปในตอนกลางคืนหรือตอนที่ไม่ได้ทำงาน แต่ไม่ได้กระทบการทำงาน ส่วนอาการระยะกลาง มักจะปวดล้าระหว่างการทำงานและยังคงต่อปวดต่อเนื่องในตอนกลางคืน ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง สำหรับอาการรุนแรง จะปวดล้าอยู่เรื่อยๆ แม้จะมีการพักแล้วก็ตาม ทำให้ไม่สามารถนอนหรือทำงานในตอนกลางวันได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Work-related Musculoskeletal Disorders (WMSDs). http://www.ccohs.ca/oshanswers/diseases/rmirsi.html [2014, January 18].