กล้ามเนื้อปวดล้าจากการทำงาน (ตอนที่ 2)

นพ.ภรชัย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า โรคนี้เป็นต้นเหตุให้สูญเสียเวลาในการทำงานถึงกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละ 15-20 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา พบว่าร้อยละ 34 สูญเสียเวลาทำงานเพราะโรคนี้ ในต่างประเทศจึงจัดตั้งเป็นองค์กรดูแลสวัสดิภาพพนักงาน พบว่าช่วยลดตัวเลขของคนป่วยลงได้อย่างมาก แต่สำหรับประเทศไทยกลับมองไม่เห็นความสำคัญในการรณรงค์ป้องกันเหมือนในต่างประเทศ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ คือ การแก้ปัญหาตามหลังเมื่อเกิดอาการแล้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่า WMSDs เป็นสาเหตุสำคัญของความทรมาน การสูญเสียผลผลิต และเป็นภาระทางเศรษฐกิจของสังคม

ความเสี่ยงในการเกิด WMSDs เกิดจากการเคลื่อนไหวของแขนและมือ เช่น การงอ การยืด การจับ การถือ การบิด การกำ และการเอื้อม ซึ่งในชีวิตประจำวันปกติจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างไร แต่เมื่อมีการทำซ้ำๆ บ่อยๆ ในชีวิตการทำงานก็อาจก่อปัญหาได้

ความเสี่ยงในการเกิด WMSDs ประกอบด้วย

  1. การวางท่าทางของร่างกาย (Body Position) มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด WMSDs การอยู่ในท่าเดียวตลอดของคอและไหล่ เช่น การหยิบจับของทำให้กล้ามเนื้อที่ไหล่และคอ ตึง ล้า และปวด
  2. การทำในท่าที่ซ้ำๆ ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของ WMSDs เพราะทำให้กล้ามเนื้อเหนื่อยล้า
  3. การออกแรง และการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะกับสรีระร่างกาย
  4. ความเร็วในการทำงาน เช่น ความเร็วในการประกอบชิ้นส่วนในสายการผลิต ยิ่งเร็วก็ยิ่งเพิ่มความตึงเครียด
  5. อุณหภูมิและแรงสั่นสะเทือน หากอากาศร้อนคนงานก็จะเหนื่อยเร็วขึ้นทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย หรือหากอากาศหนาวกล้ามเนื้อและข้อจะมีความยืดหยุ่นน้อยลง ก็อาจบาดเจ็บได้เช่นกัน นอกจากนี้แรงสั่นสะเทือนจะกระเทือนกับเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อ และเส้นประสาท โดยเฉพาะคนงานที่ต้องใช้เครื่องมือที่มีการสั่นสะเทือน อาจจะรู้สึกชาที่นิ้วและปวด

การเกิด WMSDs ไม่ใช่ผลจากการบาดเจ็บครั้งเดียว แต่เป็นการค่อยๆ สั่งสมอาการบาดเจ็บทีละน้อย โดยส่วนใหญ่จะมีการบาดเจ็บ 3 อย่าง คือ การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ การบาดเจ็บของเส้นเอ็น และการบาดเจ็บของเส้นประสาท

การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ - เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวจะมีการใช้พลังงานเคมีจากน้ำตาลและก่อให้เกิดกรดแลคติก (Lactic acid) ไหลเวียนไปตามกระแสเลือด เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวนานจะทำให้การไหลเวียนน้อยลง เป็นผลทำให้สิ่งที่กล้ามเนื้อสร้างขึ้นไม่สามารถไหลเวียนได้เร็วพอจึงเกิดการสะสม การสะสมนี้จะทำให้กล้ามเนื้อระคายเคือง และเป็นสาเหตุของการปวด โดยความรุนแรงของการปวดขึ้นกับระยะเวลาที่กล้ามเนื้อหดตัวและระยะเวลาระหว่างกิจกรรมที่ทำว่ากล้ามเนื้อสามารถกำจัดสารระคายเคืองนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

แหล่งข้อมูล:

  1. ′กล้ามเนื้ออ่อนล้า′ โรคฮิตพนักงานออฟฟิศ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1387332598&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2014, January 17].
  2. Work-related Musculoskeletal Disorders (WMSDs). http://www.ccohs.ca/oshanswers/diseases/rmirsi.html [2014, January 17].