กล้ามเนื้อฉีก (Strain)

บทความที่เกี่ยวข้อง
กล้ามเนื้อฉีก

กล้ามเนื้อฉีก (Strain) เป็นภาวะที่เกิดจากกล้ามเนื้อถูกใช้งาน/ยืดตัวจนเกินกำลัง จึงก่อให้เกิดการบาดเจ็บฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อมัดนั้นๆขึ้น

กล้ามเนื้อฉีกพบได้ในทุกเพศและทุกวัย มักพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิงโดยสาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากเล่นกีฬา

สาเหตุหลักของกล้ามเนื้อฉีกคือ อุบัติเหตุต่อกล้ามเนื้อ การใช้งานกล้ามเนื้อเกินกำลัง (เช่น ยกของหนัก) การออกแรงหรือเล่นกีฬาโดยไม่มีการอบอุ่นกล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง และการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำๆในบางอาชีพเช่น ในผู้ใช้แรงงาน

อาการจากกล้ามเนื้อฉีกคือ ปวด/เจ็บกล้ามเนื้อมัดนั้นมากทันทีจนเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดนั้นไม่ได้ กล้ามเนื้อมัดนั้นบวมและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำและ/หรือมีรอยฟกช้ำ/รอยเขียวคล้ำ

การปฐมพยาบาลคือ ใช้หลักของ “PRICE หรือ RICE” และเมื่อปฐมพยาบาลแล้วควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

P (Protection) คือ ป้องกันการบาดเจ็บไม่ให้มากขึ้นโดยการดามกล้ามเนื้อมัดนั้นด้วยวัสดุที่แข็งพอที่จะป้องกันการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนั้นได้ อย่ารัดให้แน่นเพราะกล้ามเนื้อจะขาดเลือด

R (Rest) คือ หยุดการใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นจนกว่าอาการปวดจะหายไป

I (Ice) คือ การประคบเย็นเพื่อช่วยลดการมีเลือดออกและลดบวมและยังช่วยบรรเทาอา การปวด แต่ต้องไม่เย็นจัดเพราะเนื้อเยื่อที่ได้รับความเย็นจัดจะขาดเลือดได้จากหลอดเลือดหดตัวจากความเย็น

C (Compression)คือ พันรอบๆบริเวณบาดเจ็บเพื่อช่วยลดบวม ลดการเคลื่อนไหว และลดเลือดออก แต่ต้องไม่ให้แน่นเกินไปเพราะจะส่งผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือดได้

E (Elevation) คือ ถ้าเกิดกล้ามเนื้อฉีกในบริเวณที่ยกขึ้นได้ ให้ยกกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้สูงขึ้นเพื่อลดการบวมจากการมีเลือดคั่งในส่วนนั้นตามแรงดึงดูดของโลก

การป้องกันกล้ามเนื้อฉีกที่สำคัญคือ

  • อบอุ่นกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธีและนานพอก่อนใช้แรงกล้ามเนื้อ
  • หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้ออย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
  • รู้จักเทคนิคที่ถูกต้องเมื่อต้องออกแรงเช่น ในการยกของหนัก เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Strain (Injury) http://en.wikipedia.org/wiki/Strain_(injury) [2015,July18]
  2. Strains http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000042.htm [2015,July18]
Updated 2015, July 18