ขาวใส ใช่จะดี ! (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

กลูต้าไธโอน

จากการศึกษาในสัตว์และในห้องทดลองพบว่า กลูตาไธโอน ช่วยในการต่อสู้กับโรค โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความชรา (Aging) ทั้งนี้เพราะสารอนุมูลอิสระเป็นสาเหตุของโรคในวัยชรา

ในทางการแพทย์พบว่ามีการนำกลูตาไธโอนมาทดลองใช้ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) โรคต้อกระจก (Cataracts) ภาวะเป็นหมันในเพศชาย (Male infertility) โรคเอดส์ (AIDS) โรคปอดอักเสบเรื้อรัง (Idiopathic pulmonary fibrosis = IPF) โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) และอื่นๆ

[โรคซิสติกไฟโบรซิส เป็นโรคกรรมพันธุ์ที่รุนแรง มีความผิดปกติของตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่สร้างเอ็นไซม์ในการย่อยอาหาร สร้างบางส่วนของต่อมน้ำลาย ต่อมในระบบทางเดินหายใจและต่อมเหงื่อ]

นอกจากนี้ ยังมีการพบว่ากลูตาไธโอนและสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ สามารถช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งได้

อย่างไรก็ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้กลูตาไธโอนในคนที่มีประวัติในการแพ้โปรตีนนม คนที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplant) หญิงตั้งครรภ์และหญิงอยู่ระหว่างการให้นมบุตร

ทั้งนี้เราสามารถพบผลิตภัณฑ์กลูตาไธโอนได้ในรูป ยาเม็ดหรือผงละลายน้ำสำหรับกิน ยาพ่นสเปรย์ (Inhaled) หรือยาฉีดเข้าเส้น (Intravenous)

การได้รับกลูตาไธโอนในปริมาณที่เหมาะสมค่อนข้างจะปลอดภัย แต่เนื่องจากผิวที่ขาวขึ้นจากกลูตาไธโอนนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หากต้องการให้ผลคงอยู่ไปตลอดจำเป็นต้องได้รับยาซ้ำเป็นระยะ ทำให้มีการสะสมยาในร่างกายมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้

นอกจากนี้การฉีดยาจำเป็นต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการให้ยา เช่น การฉีดยาในอัตราที่เร็วเกินไป การติดเชื้อในกระแสเลือดจากเครื่องมือที่ไม่สะอาด การเกิดฟองอากาศอุดตันหลอดเลือดเนื่องจากผู้ฉีดยาไล่ฟองอากาศในเข็มฉีดยาไม่หมด เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ที่ได้รับยาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ถึงแม้ว่ากลูตาไธโอนเป็นสารที่ร่างกายสร้างได้เองตามธรรมชาติ แต่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกลูตาไธโอนชนิดฉีดหรือชนิดกินเพื่อให้ผิวขาวใสนั้นยังไม่มีการพิสูจน์ผลที่ชัดเจน ความปลอดภัยในการใช้ยาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นก่อนการใช้ยาใดๆ ก็ตามควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดเสียก่อนเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

แหล่งข้อมูล

1. Glutathione: New Supplement on the Block. http://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=50746 [2014, July 27].
2. GLUTATHIONE OVERVIEW INFORMATION. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-717-GLUTATHIONE.aspx?activeIngredientId=717&activeIngredientName=GLUTATHIONE [2014, July 27].