กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ กลุ่มอาการรากประสาทหางม้า (Cauda equina syndrome)

สารบัญ

บทนำ

อาการปวดหลัง ปวดขา เป็นอาการหนึ่งที่พบบ่อย สาเหตุที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลังระ ดับเอวเสื่อม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง กระดูกสันหลังเสื่อม) กล้ามเนื้อหลังหดเกร็ง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดบริเวณก้นหรือกระเบนเหน็บ หรือมีปัญหาการปัสสาวะผิด ปกติร่วมด้วย ซึ่งเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์บอกว่าเป็นโรคบริเวณกลุ่มรากประสาทคล้ายหางม้า หรือ รากประสาทหางม้า (Cauda equina) ผู้ป่วยจะงงมากว่าโรคนี้คืออะไร ต้องอธิบายให้ทราบตั้งแต่โครงสร้างของไขสันหลัง และรากประสาท ติดตามบทความนี้ครับ

กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บคืออะไร?

กลุ่มอาการรากประสาทหางม้า

กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บหรือกลุ่มอาการรากประสาทหางม้า (Cauda equina syndrome) คือ กลุ่มอาการที่มีรอยโรคในบริเวณส่วนปลายของไขสันหลัง

โดยปกติไขสันหลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลางจะเริ่มต้นตั้งแต่สมองต่อลงมาเป็นไขสันหลัง โดยส่วนปลายของไขสันหลังจะสิ้นสุดบริเวณกระดูกสันหลังเอวระดับประ มาณข้อที่ 1 ต่อกับข้อที่ 2 (Lumbar/L 1-2) ซึ่งส่วนปลายของไขสันหลัง เรียกว่า Conus medullaris บริเวณดังกล่าวจะมีรากประสาทออกมารวมกันเป็นกลุ่มของรากประสาท มีลักษณะคล้ายหางม้า (Cauda equina) ซึ่งเมื่อมีรอยโรคที่รากประสาทส่วนนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการของรากประสาทที่ผิดปกติ เช่น ชา ปวดหลังตอนล่าง ปวดก้น ปวดขา 2 ข้าง ขา 2 ข้างอ่อนแรง

กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ พบได้ไม่บ่อย แต่ไม่มีข้อมูลที่ทราบแน่ชัดว่าพบมากน้อยเพียงใด เป็นโรคมักพบในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บมีอะไรบ้าง?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ ได้แก่

  • ช่องระหว่างกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ
  • มีอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสันหลังเอว
  • มีหมอนรองกระดูกเคลื่อน กดทับรากประสาทส่วนหางม้านี้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง )
  • เนื้องอก ของเยื่อหุ้มสมอง หรือ ของเซลล์ประสาทในบริเวณกลุ่มรากประสาทหางม้า
  • โรคมะเร็ง โดยเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ที่แพร่กระจายมาบริเวณกลุ่มรากประสาทหางม้า เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • การอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อของกลุ่มรากประสาทหางม้า เช่น จากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • การอักเสบติดเชื้อบริเวณกลุ่มรากประสาทหางม้า เช่น วัณโรค
  • จากการเจาะหลัง (Lumbar puncture) แล้วมีเลือดออกไปกดทับกลุ่มรากประสาทหางม้า

กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บมีอาการอย่างไร?

อาการของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ ได้แก่

  • ชา บริเวณขา รอบก้น ขาหนีบ อวัยวะเพศ
  • อ่อนแรงบริเวณขา
  • ปัสสาวะ อุจจาระลำบาก กลั้นไม่ได้ ท้องผูก
  • ปวดบริเวณ เอว หรือ กระเบนเหน็บ
  • ปวดร้าวลงมาตามตำแหน่งของกลุ่มรากประสาทและเส้นประสาทหางม้า
  • มีความรู้สึกออกร้อน คล้ายเข็มแทง แมลงไต่บริเวณขา ก้น อวัยวะเพศ

เมื่อใดที่ต้องไปพบแพทย์?

เมื่อมีอาการปวดหลัง ปวดเอว อาการชา หรืออ่อนแรง ที่เป็นขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรรีบพบแพทย์ หรืออาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ เป็นมากขึ้น ไม่ดีขึ้น ที่สำคัญคือ ถ้าปวดขณะนอนพักกลางคืน ปัสสาวะ อุจจาระ ลำบาก ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพื่อรีบรักษา

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บได้ โดยพิจารณาจากอาการดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย ที่พบความผิดปกติของระบบประสาท บริเวณขา 2 ข้าง ขาหนีบ 2 ข้าง รอบก้น บริเวณอวัยวะเพศ และจากการเอกซเรย์ภาพกระดูกสันหลังเอวและกระเบนเหน็บ และพิจารณาส่งตรวจเอมอาร์ไอของไขสันหลังส่วนเอว รากประ สาทบริเวณเอว และกระเบนเหน็บ เพื่อให้เห็นรอยโรคแน่ชัด หลังจากนั้น คือการตรวจสืบค้นอื่น ๆเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เมื่อพบก้อนเนื้อ เป็นต้น

รักษากลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บอย่างไร?

การรักษากลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ ประกอบด้วย

  • ยาแก้ปวดสำหรับบรรเทาการปวดจากระบบประสาท
  • รักษาสาเหตุ เช่น อาจต้องผ่าตัดถ้ามีการกดทับ หรืออุบัติเหตุ, ให้ยาสเตียรอยด์ถ้าเป็นการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ, ให้ยาฆ่าเชื้อถ้าเป็นการติดเชื้อ, ฉายรังสีรักษากรณีเกิดจากโรค มะเร็ง
  • ทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสภาพของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง

การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรค หรือผลการรักษากลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ ขึ้นกับ สาเหตุ ความรุนแรงของอาการ และการมาพบแพทย์เร็วหรือช้า ซึ่งถ้ามีการปัสสาวะหรือขับถ่ายลำบาก ถือว่ามาพบแพทย์ล่าช้า

ทั้งนี้ การรักษาส่วนใหญ่ มักต้องเน้นการทำกายภาพบำบัดระยะยาว และการทานยาลดอาการเจ็บปวดหรืออาการชา

อนึ่ง ถ้าโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา ก็มีโอกาสเป็นอัมพาตของขาทั้ง 2 ข้างได้

กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ คือ อาการอัมพาตของขาทั้ง 2 ข้างกรณีโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา

นอกจากนั้น คือ คุณภาพชีวิตที่ด้อยลงจาก ปัญหาการขับถ่าย ความรู้สึกทางเพศเสียไป และความทรมานจากอาการปวด อาการชา

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อเป็นโรคนี้ต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อแพทย์ได้ให้การรักษาที่โรงพยาบาลจนอาการคงที่ และให้กลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน การดูแลตนเองของผู้ป่วย คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ควรหมั่นทำกายภาพบำบัดตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ สม่ำเสมอ ตลอดไป
  • ระวังการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจากมีปัญหาการขับถ่าย และถ้ามีการปัสสาวะไม่หมด ก็จะมีปัสสาวะค้างมาก ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย
  • พบแพทย์ตามนัด
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ อาการปวดหรือชามากขึ้น, ปัสสาวะลำบาก, มีไข้, และ/หรือ ปัสสาวะขุน แสบขัด, และ/หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง, และ/หรือ เมื่อมีอาการผิดไปจากอาการเดิม, และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันกลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บได้อย่างไร?

กลุ่มอาการรากประสาทเอวและกระเบนเหน็บนี้ ไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้นการพยายามไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณดังกล่าว เช่น การใช้เข็มขัดนิรภัยในการโดยสารรถยนต์ การระมัดระ วังเมื่อปีนป่าย เป็นต้น