หลายคนคงเคยเห็นผู้ป่วยบางคนมีการเคลื่อนไหวผิดปกติเช่น แลบลิ้น เคี้ยวปาก ขยับแขนขาไปมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ แต่เวลาหลับอาการเหล่านี้ก็หายไป อาการเหล่านี้คืออะไร เกิดจากอะไร จะรักษาอย่างไร หายหรือไม่ ลองติดตามจากบทความเรื่อง “กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา (Tardive dyskinesia บางคนย่อว่า กลุ่มอาการ TD)”
อนึ่ง ยึกยือ ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ หยิกไปหยิกมา ไม่ตรง ไม่เป็นระเบียบ
กลุ่มอาการยีกยือเหตุจากยาคือ กลุ่มอาการที่พบในผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชที่ออกฤทธิ์ต้านสารโดปามีน/Dopamine (เช่น ยา Haloperidol, Pimozide) เป็นระยะเวลานาน โดยผู้ป่วยจะมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายโดยที่ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเหล่านั้นได้
อาการเคลื่อนไหวผิดปกติในกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาประกอบด้วย 2 อาการหลักคือ
1. อาการเคลื่อนไหวผิดปกติบริเวณปาก-ใบหน้า-คอได้แก่ อาการเคี้ยวปาก แลบลิ้น กระพริบตา ขยับกล้ามเนื้อใบหน้า คอบิดไปมา
2. อาการเคลื่อนไหวผิดปกติบริเวณแขน-ขาได้แก่ การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว อยู่ไม่สุข บิดมือ-แขน-ขา สะบัดแขน-ขา
กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาพบได้บ่อยประมาณ 15 - 30% ในผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านสารโดปามีน (Dopamine) เป็นระยะเวลานาน โดยมีรายงานพบได้ตั้งแต่ได้รับยากลุ่มนี้นานประมาณ 1 ปีถึง 1 ปีขึ้นไป โดยยิ่งใช้ยานานขึ้นโอกาสเกิดกลุ่มอาการนี้ก็ยิ่งสูงขึ้น
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาได้แก่ ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช ที่ออกฤทธิ์ต้านสารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งอาการมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีลักษณะดังนี้คือ
กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาเกิดจากผลข้างเคียงของยากลุ่มต้านสารโดปามีน (Dopamine) ที่ส่งผลให้สารโดปามีนในสมองลดลง ซึ่งสารโดปามีนนั้นเป็นสารสื่อประสาทมีหน้าที่ด้านควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย ดังนั้นเมื่อสารโดปามีนลดลงจึงส่งผลถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายของสมอง จึงส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของส่วนต่างๆของร่างกาย
ผู้ที่มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติตั้งแต่ที่เริ่มมีอาการ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้การวินิจฉัยว่าอาการผิดปกติดังกล่าวนั้นมีสา เหตุจากอะไร ใช่กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาหรือไม่ และจะได้พิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องปรับยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยอยู่หรือไม่
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาได้โดยพิจารณาข้อมูลจากประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ยาต่างๆที่ผู้ป่วยใช้ ร่วมกับการมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติดังกล่าวข้างต้น การตรวจร่างกาย และการตรวจร่างกายทางประสาทวิทยา เป็นหลัก
กรณีแพทย์มีข้อมูลการเจ็บป่วยได้แก่ โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต้านโดปามีน(Dopamine) ลักษณะการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เป็นลักษณะจำเพาะก็สามารถให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือด้วยการตรวจเลือด
โรคที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาได้แก่ โรคพาร์กินสัน, ภาวะการเคลื่อนไหวผิดปกติเหตุจากจิตใจ (Psychogenic causes), โรค Wilson (โรคที่มีการเผาผลาญสารทองแดงผิดปกติส่งผลให้สารทองแดงสะสมในเนื้อสมอง) ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวินิจฉัยแยกโรคได้จากข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย สาเหตุของความผิดปกติอื่นๆที่พบร่วมด้วย การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางประสาทวิทยา และที่สำคัญคือประวัติการใช้ยาต้านสารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งต้องพบทุกรายในกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา
การรักษากลุ่มอาการยึกยื้อเหตุจากยาที่สำคัญคือ หยุดยาต้านสารโดปามีน (Dopamine) เป็นอันดับแรก และให้ยาแก้ได้แก่ ยากลุ่มต้านโคลิเนอจิก (Anticholinergic agents) ยากลุ่มเบ็นโซไดอะซีบีน (Benzodiazepines) เป็นต้น แต่ในบางกรณีที่อาการไม่มากและผู้ป่วยก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาต้านสารโดปามีนจึงไม่สามารถหยุดยานี้ได้ แพทย์อาจต้องปรับขนาดยาต้านสารโดปามีนให้เหมาะสม ร่วมกับให้ยาในกลุ่มต้านโคลิเนอจิกร่วมด้วย หรือปรับเพิ่มยารักษาโรคที่เป็นกลุ่มยาใหม่ๆที่มีผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการยึกยื้อเหตุจากยาต่ำกว่ายาเดิมที่ใช้อยู่
กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยามีการพยากรณ์โรคที่ดี ผลการรักษาส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่อาจไม่หายเป็นปกติในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับยามาเป็นเวลานานมาก และ/หรือยังมีอาการทางจิตที่ต้องใช้ยากลุ่มต้านสารโดปามีน (Dopamine) รักษาอยู่หยุดยานี้ไม่ได้
ระยะเวลาการรักษากลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาขึ้นกับการตอบสนองและความจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคทางจิตกลุ่มต้านสารโดปามีน (Dopamine) ต่ออีกหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วถ้าหยุดยา อาการก็มักดีขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องรักษาเป็นระยะเวลานาน กรณีที่ยังมีอาการหายได้ไม่ดี ก็จำเป็นต้องให้การรักษาต่ออีก
ครอบครัวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมในการรักษากลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา ซึ่งการดูแลผู้ป่วยจากครอบครัวที่สำคัญได้แก่
การดูแลตนเองของผู้ป่วยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาที่สำคัญคือ
ผู้ป่วยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
การป้องกันการเกิดกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาคือ การรักษาสุขภาพจิตให้ดีจะได้ไม่ต้องใช้ยาสารต้านโดปามีน (Dopamine) แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ก็ต้องพบแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด ควรพยายามปรับตัวให้อาการทางจิตนั้นไม่รุนแรง จะได้ใช้ยานี้ในขนาดไม่สูง และใช้ไม่นาน รวมถึงไม่ซื้อยานี้ทานเอง ไม่ปรับขนาดรับประทานยานี้เองโดยไม่ใช่คำสั่งจากแพทย์
กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยานั้นเป็นผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาต้านสารโดปามีน (Dopamine) ที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช มิใช่อาการทางจิต ผู้ป่วยไม่ได้แกล้งทำ ทุกคนควรเข้าใจเห็นใจและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย