กลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดง (Hand-Foot Syndrome)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร?

กลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดง/กลุ่มอาการมือเท้าบวมแดง (Hand-Foot Syndrome  ย่อว่า  เอชเอฟเอส/ HFS) คือ อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ทางผิวหนังจากการใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด, หรือในการรักษาผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ คือ เป็นรูปเคียว/โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle-cell Disease)

อนึ่ง:  มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์นี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ.2517) โดยผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้จะมีอาการชา และ/หรือ ปวดแสบ ร้อน รู้สึกตึง  มีผื่นขึ้น บวมแดง บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า และหากอาการเหล่านี้รุนแรง จะเกิดการลอกของผิวหนัง และ/หรือเกิดผื่นพุพองที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้

ทั้งนี้

  • กลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดง ยังมีชื่อเรียกได้อีกหลายชื่อ เช่น Palmar-Plantar Erythrodysesthesia,  Palmar-plantar dysaesthesia,  Palmoplantar dysaesthesia , Acral erythema, Burgdorf syndrome, Chemotherapy-induced acral erythema, Palmar plantar erythema, Palmar plantar erythrodysaesthesia, Plantar palmar erythroderma, Toxic erythema of the palms and soles  
  • และในบทความนี้จะกล่าวถึง กลุ่มอาการมือเท้าบวมแดง เฉพาะกรณี ’สาเหตุเกิดจากยาเคมีบำบัด’เท่านั้น

การรักษาโดยทั่วไปของกลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดง ประกอบด้วย การประคบเย็น, การใช้ยาบรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวด, ซึ่งอาการมือและเท้าบวมแดงนั้น จะดีขึ้นได้หลังจากหยุดยาเคมีบำบัดนั้นๆไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์

กลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดงมีสาเหตุมาจากอะไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีกลไกอธิบายได้แน่ชัดในการเกิดกลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดง  แต่ทางการแพทย์เชื่อว่า น่าเกิดจากการเหนี่ยวนำของยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่น ยาอะซิทินิบ(Axitinib), ยาคาโบซาทินิบ (Cabozatinib), ยาคาเพ็กไซทาบีน (Capecitabine), ยาไซทาราบีน (Cytarabine), ยาโดซีแท็กเซล (Doxetaxel), ยาโฟลซูริดีน (Floxuridine), ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil), ยาไอดารูบิซิน (Idarubicin), ยาโดโซรูบิซิน (Doxorubicin), ยาซูนิทินบ (Sunitinib), ยาโซราฟีนิบ (Sorafenib), ยาพาโซพานิบ (Pazopanib), ยาพาคลิทาเซล (Paclitaxel), ยาวีมูราฟีนิบ (Vemurafenib), และยาริโกราฟีนิบ (Regorafenib) 

โดยหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดที่เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการนี้แล้ว ยาฯบางส่วน จะเกิดการรั่วไหลออกจากเส้นเลือดฝอยที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า  โดยยาฯจะมีการรั่วไหลมากขึ้นๆ หากมือและเท้าอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อน หรือมีการเสียดสีที่บริเวณมือและเท้า, ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการมือและเท้าบวมแดงได้สูงขึ้น

กลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดงมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดงทั่วไป อาการจะเริ่มจาก

  • มือ เท้า มีอาการบวม แดง และ/หรือปวดตึง ลักษณะคล้ายๆกับผิวหนังเวลาโดนแสงแดดเผา
  • หลังจากนั้นผิวหนังที่ มือ ที่เท้า จะแห้งและลอก และ
  • ตามมาด้วยอาการชาและแสบ ซึ่งจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

*โดยอาการเหล่านี้ อาจเกิดได้หลังได้รับยาเคมีบำบัดไปแล้วประมาณ 2-10 วัน หรือ นานประมาณ 2-3 เดือน

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

หากคุณได้รับยาเคมีบำบัดแล้วพบว่าเกิดกลุ่มอาการมือเท้าบวมแดง เช่น ปวดตึงบริเวณมือและเท้า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดก่อนอาการลอกของผิวหนัง ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ผู้รักษา/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว, ซึ่งแพทย์อาจให้หยุดยาฯชั่วคราว หรือปรับขนาดของยาฯเพื่อลดความรุนแรงจากกลุ่มอาการนี้  ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษา

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการมือเท้าบวมแดงอย่างไร?

โดยทั่วไป ในผู้ป่วยที่ใช้ยาเคมีบำบัดแล้วเกิดอาการปวดบริเวณมือและเท้า ร่วมกับอาการบวมแดง  แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากทางคลินิกว่า เป็นกลุ่มอาการมือเท้าบวมแดงที่เกิดจากอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาเคมีบำบัด เช่น จาก

  • ประวัติการได้รับยาเคมีบำบัด
  • ประวัติมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’
  • การตรวจร่างกาย และ
  • ร่วมกับการตรวจมือและเท้าผู้ป่วย  

แต่อย่างไรก็ดี บางครั้งถ้าอาการผู้ป่วยไม่ชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) จากรอยโรคที่ผิวหนังด้วยก็ได้ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อการวินิจฉัยโรคได้แน่นอน เช่น เพื่อแยกจากอาการแพ้ยาฆ่าเชื้อที่เรียกว่ากลุ่มอาการ stevens-johnson syndrome

รักษากลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดงอย่างไร?

โดยทั่วไป การรักษากลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดง คือการหยุดการให้ยาเคมีบำบัดนั้นๆ ไปก่อนจนกว่าอาการผู้ป่วยจะดีขึ้น  ซึ่งทั่วไป อาการจากกลุ่มอาการนี้มักจะค่อยๆดีขึ้นหลังหยุดยาเคมีบำบัดที่เป็นสาเหตุไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์

ส่วนการใช้ยาต่างๆเพื่อรักษากลุ่มอาการนี้ จะเป็นการใช้ยาเพื่อบรรเทาตามอาการ ที่เรียกว่า เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ/ การรักษาตามอาการ เช่น

  • ใช้ยาเสตียรอยด์ชนิดรับประทาน และ/หรือ ชนิดทาภายนอกทาบริเวณผิวหนังที่มีอาการ เพื่อลดอาการอักเสบและอาการปวด    
  • การใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • การใช้ยาชาชนิดทาภายนอก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ comบทความเรื่อง ยาชาเฉพาะที่) เพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ยาลิโดเคน (Lidocaine)
  • การใช้ครีม/โลชั่น(Lotion)บำรุงผิวทา เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังส่วนที่เกิดรอยโรค
  • แพทย์บางท่านอาจพิจารณาให้วิตามินบางชนิด เช่น วิตามินอี (Vitamin E) และวิตามินบี 6/ ไพริดอกซีน ด้วยก็ได้

กลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดงก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไร?

ผลข้างเคียงของกลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดงทั่วไป คือ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน  

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนมีอาการลอกของผิวหนัง ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณดังกล่าวได้ และที่สำคัญ คือ แพทย์อาจต้อง ปรับลดขนาด ชะลอ หรือเลิกใช้ยาเคมีบำบัดนั้นๆที่เป็นสาเหตุกลุ่มอาการนี้

การพยากรณ์ของโรคของกลุ่มอาการมือเท้าบวมแดงเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการมือเท้าบวมแดง ทั่วไป คือ เป็นกลุ่มอาการที่สามารถรักษาให้หายได้  ซึ่งอาการจะค่อยๆดีขึ้นหลังจากหยุดยาเคมีบำบัดที่เป็นสาเหตุไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ และร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ ดังกล่าวใน 'หัวข้อ การรักษาฯ'

*แต่อย่างไรก็ดี เมื่อกลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นแล้ว สามารถเกิดซ้ำได้อีกเสมอ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้ยาเคมีบำบัดในระยะยาว

ป้องกันกลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดงได้อย่างไร?

กลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดงสามารถ ทั่วไปป้องกันได้โดย

  • การประคบเย็นขณะบริหาร/ให้ยาเคมีบำบัดชนิดที่อาจเป็นสาเหตุกลุ่มอาการนี้ โดยประคบเย็นบริเวณมือและเท้า โดยเฉพาะฝ่ามือ ฝ่าเท้า นานครั้งละประมาณ 15-20 นาที
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่น หรือ น้ำร้อนขณะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ล้างจาน แช่น้ำอุ่น หรือ อาบน้ำอุ่น
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ หรือการทำกิจกรรมในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่น การอบซาวน่า หรือ การออกกลางแจ้งเวลานานๆ
  • หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้เกิดการเสียดสี หรือถูมือหรือถูเท้า โดยเฉพาะในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังเริ่มใช้ยาเคมีบำบัดชนิดที่อาจเป็นสาเหตุกลุ่มอาการนี้ เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่มีฤทธิ์แรง เช่น สบู่ต่างๆ (รวมสบู่อาบน้ำโดยทั่วไป) ผงซักฟอก  น้ำยาซักผ้า หรือน้ำยาทำความสะอาดบ้านชนิดต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือที่ต้องใช้แรงกดหรือกำ เช่น การใช้ไขควง มีด หรืออุปกรณ์ทำสวน
  • ทาครีม/โลชั่นบำรุงผิวที่มือ ที่เท้าบ่อยๆโดยเฉพาะฝ่ามือ ฝ่าเท้า แต่ให้ทาเบาๆ ไม่ถูหรือนวดบริเวณมือและเท้า
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี
  • สวมใส่ รองเท้า ถุงเท้า ที่ นุ่มเบา ไม่ระคายเคืองเท้า และหลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า

บรรณานุกรม

  1. James, William; Berger, Timothy; Elston, Dirk. Andrews' Diseases of the Skin: Clinical Dermatology. 2005;10.
  2. https://ascopost.com/issues/june-25-2013/how-to-recognize-and-manage-hand-foot-syndrome-due-to-capecitabine-or-doxorubicin/ [2023,Feb18]
  3. https://dermnetnz.org/topics/hand-foot-syndrome [2023,Feb18]
  4. https://www.cancer.net/coping-with-cancer/physical-emotional-and-social-effects-cancer/managing-physical-side-effects/hand-foot-syndrome-or-palmar-plantar-erythrodysesthesia [2023,Feb18]
  5. https://chemocare.com/chemotherapy/side-effects/handfoot-syndrome.aspx [2023,Feb18]
  6. https://www.oncolink.org/cancer-treatment/cancer-medications/side-effects/hand-foot-syndrome [2023,Feb18]