กลุ่มอาการทางสมอง (Encephalopathy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กลุ่มอาการทางสมอง หรือ Encephalopathy คือกลุ่มอาการความผิดปกติต่างๆทางสมอง  เช่น อาการซึม  สับสน เอะอะ โวยวาย ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นของสมองทั่วทั้งสมอง ไม่เฉพาะเจาะจงกับสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง กลุ่มอาการทางสมองดังกล่าวเกิดจากอะไร มีอาการผิด  ปกติอะไรบ้าง รักษาหายหรือไม่ ผลการรักษาดีหรือไม่ ต้องติดตามบทความนี้ครับ

กลุ่มอาการทางสมองคืออะไร?

กลุ่มอาการทางสมอง

กลุ่มอาการทางสมองคือ อาการผิดปกติทางสมองที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทั่วทั้งสมอง  ทั้งสาเหตุจากภายนอกสมอง (Extracranial cause) หรือ สาเหตุจากในสมองเอง (Intracranial cause)

กลุ่มอาการทางสมองมีอาการอะไรบ้าง?

กลุ่มอาการผิดปกติทางสมองที่พบนั้นเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติทั่วไปของทั้ง สมองมากกว่าที่จะเป็นอาการผิดปกติเฉพาะส่วนของสมอง อาการผิดปกติที่พบได้ เช่น

  1. การรู้สึกตัวผิดปกติเช่น ซึม สับสน เอะอะ โวยวาย
  2. การนอนผิดปกติเช่น นอนหลับมาก นอนไม่หลับหรือนอนหลับๆตื่นๆ
  3. การพูดผิดปกติเช่น พูดมาก พูดน้อย ไม่พูด หรือพูดสับสน
  4. การเคลื่อนไหวผิดปกติเช่น มือ-แขน กระตุก มือ-แขน สั่น
  5. ความจำไม่ดี สมาธิไม่ดี
  6. กล้ามเนื้อเต้นกระตุก
  7. ชัก
  8. การหายใจผิดปกติเช่น หายใจเร็ว-ช้าสลับกัน
  9. หมดสติ

สาเหตุของกลุ่มอาการทางสมองคืออะไร?

 สาเหตุที่พบได้ของกลุ่มอาการทางสมอง ได้แก่

  • สาเหตุจากความผิดปกติในสมอง: เช่น สมองบวม, สมองขาดออกซิเจน, ความผิดปกติ ของสมองทางเมตะบอลิก (Metabolic, การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย) ตั้งแต่กำเนิด
  • สาเหตุจากความผิดปกตินอกสมอง: โรคจากนอกสมองหลายโรคที่สามารถกระทบถึง การทำงานของสมองได้ เช่น
    1. โรคตับวาย โรคไตวาย  ภาวะหัวใจล้มเหลว
    2. ความผิดปกติทางเมตะบอลิกเช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ เกลือโซเดียมในเลือดสูง เกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ เกลือแคลเซียมในเลือดสูง
    3. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
    4. ภาวะติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)
    5. ภาวะทางสมองจากโรคต่อมไทรอยด์
    6. ภาวะทางสมองจากโรคลูปัสโรค-เอสแอลอี
    7. ภาวะทางสมองจากโรคความดันโลหิตสูงฉับพลัน
    8. ภาวะทางสมองจากครรภ์เป็นพิษ
    9. ภาวะทางสมองจากผลข้างเคียงของยาต่างๆเช่น ยานอนหลับ  ยาจิตเวช ยาลดความดัน/ยาลดความดันเลือด ยากันชัก/ยาต้านชัก  ยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการทางสมองได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการทางสมองได้จาก

  • อาการผิดปกติของผู้ป่วย (ดังกล่าวข้างต้นใน ‘หัวข้อ อาการฯ’) ร่วมกับ
  • การตรวจร่างกายพบ ระดับการรู้สึกตัวไม่ดี อาจพบอาการกระตุกของมือ (Plapping tremor) แต่ไม่พบลักษณะความผิดปกติที่บ่งบอกว่ามีรอยโรคเฉพาะตำแหน่งในสมอง (Focal lesion) เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมต่างๆเพื่อการสืบค้น เช่น

  • ตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุต่างๆตามลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย หรือทางโรคประจำตัวที่จะเป็นสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว เช่น การตรวจน้ำตาลและ/หรือเกลือแร่/ แร่ธาตุ ต่างๆในเลือด  
  • ถ้าสงสัยว่าจะมีรอยโรคในสมองก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอสมอง และ/หรือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป

การรักษากลุ่มอาการทางสมองทำอย่างไร?

 การรักษากลุ่มอาการทางสมองมักเป็นการรักษาในโรงพยาบาล โดยการรักษาที่สำคัญ คือ

  • การรักษาแก้ไขสาเหตุ: ที่จะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย เช่น การรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด /ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ, การรักษาภาวะสมองบวม เป็นต้น
  • และร่วมกับการรักษาแก้ไขปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นต่างๆที่ทำให้เกิดอาการและ/หรือที่ทำให้อาการผู้ป่วยทรุดลง เช่น การแก้ไขสารน้ำ หรือ เกลือแร่ที่ผิดปกติในเลือด, การรักษาแก้ไขภาวะร่างกายขาดออกซิเจนและอื่นๆที่มีความผิดปกติ และที่อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

กลุ่มอาการทางสมองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ผลการรักษาหรือการพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการทางสมองจะดีหรือไม่ขึ้นกับสาเหตุ, ระดับความรุนแรงของอาการ, และโรคร่วมต่างๆที่พบร่วมด้วยในผู้ป่วย, ดังนั้นการพยากรณ์โรคจึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน และแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

กลุ่มอาการทางสมองมีผลข้างเคียงอย่างไร?

กลุ่มอาการทางสมอง เมื่อรักษาหายแล้วมักมีความบกพร่องทางสมองหลงเหลืออยู่เสมอ ตลอดไป เช่น ปัญหาในด้านความจำ, ในการเข้าใจ, และในด้านจิตใจและอารมณ์

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ต่อเนื่องหรือไม่?

ผู้ป่วยกลุ่มอาการทางสมองที่แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านและให้ดูแลตนเองต่อที่บ้าน ควรต้องรักษาต่อเนื่องกับแพทย์เสมอเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุกลุ่มอาการทางสมองที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?

 การดูแลตนเองที่เหมาะสมของผู้ป่วยเมื่อแพทย์อนุญาตให้ดูแลตนเองที่บ้านที่ดีที่สุด คือ

  • ดูแลควบคุมรักษาโรคประจำตัวให้ดีตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ทานยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอครบถ้วน ไม่ขาดยา หรือหยุดยาเอง
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้โรคทรุดลง เช่น การซื้อยาต่างๆกินเอง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่อง ดื่มแอลกอฮอล์/สุรา
  • หมั่นออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ถ้ามีอาการผิดปกติหรือเมื่อมีอาการเลวลงหรือกังวลในอาการ ก็ควรพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลก่อนนัด

ป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มอาการทางสมองได้หรือไม่?

สามารถป้องกันกลุ่มอาการทางสมองได้โดย

  • ป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง (อ่านวิธีป้องกันในแต่ละโรคได้ในเว็บ com)
  • เมื่อมีโรคประจำตัวต้องควบคุมรักษาโรคประจำตัวให้ดี
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะทำให้โรคประจำตัวเลวลงเช่น การติดเชื้อ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยาทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เภสัชกรก่อนใช้ยา
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสติดเชื้อ และเพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาทางจิตเวชที่อาจเป็นตัวกระ ตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการทางสมอง