กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส (Lupus-like Syndrome) หรือ กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสที่เกิดจากการเหนี่ยวนำโดยยา (Drug-Induced Lupus Erythematosus)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คืออาการอะไร?

กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส (Lupus-like Syndrome) คือ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ก่อให้เกิดอาการคล้ายในโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี แต่อาการจะน้อยกว่ามากและสามารถรักษาให้หายกลับเป็นปกติได้

โรคลูปัสหรือโรคเอสแอลอี:

โรคลูปัส (Lupus)/โรคเอสแอลอี (SLE; Systemic lupus erythematosus) เป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง/โรคออโตอิมูน (Autoimmune) กล่าวคือ ระบบภูมิต้านทาน (ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือ ภูมิคุ้มกัน)ของร่างกาย มีการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยทั่วไปแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเข้าทำลายเซลล์แปลกปลอมหรือสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แต่ในผู้ป่วยโรคลูปัส ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเข้าทำลายเซลล์ของร่างกายเอง โดยเกิดได้กับทุกอวัยวะ จึงก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะต่างๆเหล่านั้น

ทั้งนี้ ยาบางชนิดมีคุณสมบัติสามารถกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยมีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของสารภูมิต้านทาน(Antibodies)ในร่างกาย ซึ่ง โดยทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยเกือบทุกรายระหว่างการใช้ยานั้นๆ แต่มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่ยานั้นๆเหนี่ยวนำจนผู้ป่วยเกิดอาการทางคลินิกเหมือนโรคลูปัส/โรคเอสแอลอี ที่เรียกว่า “กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสที่เกิดจากการเหนี่ยวนำโดยยา (Drug-Induced Lupus Erythematosus ย่อว่า ดีไอแอลอี/ DILE หรือ ดีไอแอล/ DIL),  หรือ กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส (Lupus like syndrome), หรือ ปฏิกิริยาคล้ายโรคลูปัส (Lupus like reaction)”  

กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสที่เกิดจากการเหนี่ยวนำโดยยา พบได้น้อย ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนประชากรที่ได้รับยาที่เป็นสาเหตุ  โดยในสหรัฐอเมริกามีรายงานว่า  มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคลูปัสที่เกิดจากการเหนี่ยวนำโดยยาประมาณ 15,000 – 30,000 รายต่อปี โดยพบเกิดขึ้นได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้ชายและในผู้หญิง ซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุในช่วงอายุ 50-70 ปี และโอกาสเกิดจะสูงขึ้นถ้าใช้ยาที่เป็นสาเหตุในขนาดที่สูง

อาการของกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส:

อาการของผู้ที่เกิดกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสจะมีอาการโดยทั่วไปคล้ายกับผู้ที่เป็นโรค โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี  ที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้นทั่วตัว ปวดข้อต่างๆ  และอาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย, ซึ่งอาการ และความรุนแรงของอาการผู้ป่วยจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับชนิดของยาและปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับ

ผู้ป่วยบางราย (พบน้อย) อาจเกิดอาการที่มีความรุนแรง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ/อาการระบบเลือด (เช่น ซีด  เลือดออกง่าย)  รวมถึงอวัยวะหรือระบบอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่ ไต (เช่น ไตอักเสบ) และระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น สับสน วิงเวียน ชา ชัก)

กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสเกิดได้อย่างไร/มีสาเหตุมาจากอะไร?

 

ปัจจุบัน ยังไม่สามารถอธิบายการเกิดกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสที่เกิดจากการเหนี่ยวนำโดยยาได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี มีข้อสันนิษฐานที่อาจเป็นกลไกหรือสาเหตุการเกิดกลุ่มอาการฯ เช่น

ก. สาเหตุจากยาที่เป็นสาเหตุ: โดยอาจเกิดจาก

  • กระบวนการเมทาบอลิซึม (Metabolism/สันดาป) ของร่างกายที่ผิดปกติจากยาที่เป็นสาเหตุ
  • เมตะบอไลต์ (Metabolite/รูปแบบ/สารของตัวยาที่เปลี่ยนไปภายหลังกระบวนการเมทาบอลิซึม) ของกลุ่มยาที่เป็นสาเหตุ (เช่น ยาเคมีบำบัด) อาจกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการฯนี้
  • ยาที่เป็นสาเหตุไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้เกิดการสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์ของร่างกาย
  • เมตะบอไลต์ของยาที่เป็นสาเหตุ ที่รบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันส่วนกลางของร่างกาย จนส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการสร้างภูมิคุ้มกัน
  • การทำงานของต่อมไทมัส (ต่อมที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย) เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานและทำงานผิดปกติ

ข. สาเหตุจากปัจจัยด้านพันธุกรรม: ข้อสันนิษฐานว่าปัจจัยด้านพันธุกรรมอาจเป็นสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการฯนี้ได้ เนื่องจากมีการค้นพบความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมของระบบภูมิคุ้มกัน (Immunogenetics) และการเกิดกลุ่มอาการฯนี้  ตัวอย่างเช่น จีโนไทป์/Genotype/ชุดของจีน/ยีน/Gene เช่น จีโนไทป์ชุด HLA-DR0301 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเหนี่ยวนำให้เกิดกลุ่มอาการฯนี้ ในผู้ป่วยที่ใช้ยาโพรเคนาไมด์ (Procanamide), หรือจีโนป์ชุด HLA-DR4 ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการฯนี้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) เป็นต้น

นอกจากนี้ จีโนไทป์ที่อาจมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดกลุ่มอาการฯนี้,  พันธุกรรมยังมีส่วนในการกำหนดความสามารถของกระบวนการเมทาบอไลต์ยา/กระบวนการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของยาอีกด้วย  ดังที่ยาบางชนิดต้องผ่านกระบวนการเมทาบอไลต์ ที่เรียกว่า อะซิทิเลชัน (Acetylation) เช่น ยาโพรเคนาไมด์และยาไฮดราลาซีน พบว่าในผู้ป่วยที่มีกระบวนการอะซิทิเลชันช้า จะมีแนวโน้มของการเกิดกลุ่มอาการฯนี้ได้มากขึ้น

มีกลุ่มเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างในการเกิดกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส?

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีการใช้ยาที่มีความสามารถในการเหนี่ยวนำให้เกิดกลุ่มอาการฯนี้ได้ ทั้งนี้ มีความแปรผันไปตามชนิดของยา กล่าวคือ ยาบางชนิดได้มีการศึกษาแล้วว่ามีส่วนในการเหนี่ยวนำให้เกิดกลุ่มอาการฯนี้ ขณะที่ยาบางชนิดยังไม่ได้รับการยืนยันที่แน่ชัด

ก. ยาที่ได้รับการระบุว่า มีความสัมพันธ์ในการกระตุ้นการเกิดกลุ่มอาการฯนี้แน่นอน (Definite):  ที่พบบ่อย เช่นยา

  • โพรเคนาไมด์ (Procanamide): ใช้สำหรับรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ไฮดราลาซีน (Hydralazine): ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • มิโนซัยคลิน (Minocycline): ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ
  • ดิลไทอะเซม (Diltiazem): ใช้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • เพนิซิลลามีน (Penicillamine): เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ไอโซไนอะซิด (Isoniazid): ใช้เป็นยารักษาวัณโรค
  • ควินิดีน (Quinidine):  ใช้รักษาโรคหัวใจ
  • ยาชีววัตถุในกลุ่มแอนตีทูเมอร์เนโครซิสแฟกเตอร์ (Anti-tumor Necrosis Factor; TNF): ที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการฯนี้ ได้แก่ ยาอินฟลิซิแมบ (Infliximab) ที่ใช้ในการรักษาโรคโครห์น (Crohn Disease)  โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคสะเก็ดเงิน,  และยาอีทาเนอร์เซปต์ (Etanercept) ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน และข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • อินเตอร์เฟอรอนแอลฟา (Intereron-alfa): ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี  โรคไวรัสตับอักเสบซี  และมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด
  • ยาเมธิลโดพา (Methydopa): ใช้รักษาความดันโลหิตสูง
  • คลอร์โพรมาซีน (Chlorpromazine): ใช้เป็นยาจิตเวช
  • แพรกโทลอล (Practolol): ใช้รักษาโรคหัวใจ

ข. ยาที่ได้รับการระบุว่าน่าจะ (Probable) มีความสัมพันธ์ในการกระตุ้นการเกิดกลุ่มอาการฯนี้:  เช่น  

  • กลุ่มยาต้านชัก/ยากันชัก เช่นยา พีไนทอยด์ (Phenytoin) เอโธซูซิไมด์ (Ethosuximide) คาร์บามาซีพีน (Carbamazepine)
  • ยาโรคไทรอยด์
  • ยาในกลุ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่นยา  ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) ไรแฟมพิน (Rifampin) ไนโตรฟูแรนทอยด์ (Nitrofurantoin)
  • ยาควบคุมการเต้นของหัวใจและยาลดความดันโลหิตในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers) และยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone)
  • ยาลดความดัน เช่นยา   แคปโตพริล (Captopril)  ไฮโดรคลอโรไธอะไซด์ (Hydrochlorothizaide)
  • ยาเบาหวาน เช่น ยากลิบูไรด์ (Glyburide)
  • ยาจิตเวช เช่น ยาลิเธียม (Lithium)
  • ยาฆ่าเชื้อรา/ยาต้านเชื้อรา เช่น  ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น  ยาทิโคลพิดีน (Ticlopidine)
  • ยาเคมีบำบัด  เช่น ยาโดซิแท็กเซล (Doxetaxel)

ค. ยาที่ได้รับการระบุว่าอาจมีความสัมพันธ์ (Possible)ในการกระตุ้นการเกิดกลุ่มอาการนี้: เช่น

  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม เพนิซิลลิน(Penicillin)  เททราไซคลิน (Tetracycline)
  • ยาลดไขมันกลุ่มสะแตติน (Statins) เช่นยา โลวาสแตติน (Lovastatin) ซิมวาสแตติน (Simvastatin) และ อะทิร์วาสแตติน (Atorvastatin)
  • ยาลดไขมัน เจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil)
  • ยาต้านชัก เช่นยา   วัลโพรเอต (Valproate) และ ลาโมทริจีน (Lamotrigine)
  • ยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน เช่น ยาทิโมลอล (Timolol)
  • ยารีเซอร์พีน (Reserpine) ที่ใช้รักษาโรคจิตเภท
  • ยาเมซาลาซีน (Mesalazine) / ยาต้านอักเสบที่ใช้ในการรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease; IBD)

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

หากกำลังใช้ยาที่มีผลหรืออาจมีผลเหนี่ยวนำให้เกิดกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น(ในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ)  และพบว่ามีอาการ/ อาการแสดงต่างๆเกิดขึ้น (ดังที่กล่าวไปแล้วใน หัวข้อ บทนำ ‘หัวข้อย่อย  อาการของกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส’) ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางในการวินิจฉัยโรคนี้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี แพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคนี้ได้จาก

  • ประวัติการใช้ยาต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเหนี่ยวนำกลุ่มอาการฯนี้(ดังได้กล่าวในหัวข้อ สาเหตุฯ) โดยมีการใช้ยามาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 เดือน ร่วมกับผู้ป่วยมีอาการแสดงคล้ายผู้ป่วยเป็นโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (ดังที่กล่าวไปแล้วใน บทนำหัวข้อย่อย อาการของกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส)
  • แพทย์อาจตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า แอนตีนิวเคลียร์แอนตีบอดี (Antinuclear antibodies; ANA) ซึ่งเป็นแอนตีบอดีที่พบได้ในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการฯ นี้,   ร่วมกับแพทย์อาจพิจารณาตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า แอนติฮิสโตนแอนติบอดี (Anti-histone antibodies) ด้วยก็ได้ หากผู้ป่วยมีการใช้ยาโพรเคนาไมด์ ยาไฮดราลาซีน ยาคลอร์ไรมาซีน และยาควินิดีน
  • วินิจฉัยจากการที่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายหลังหยุดยาที่เป็นสาเหตุ

อนึ่ง: แพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกโรคนี้ออกจากผู้ป่วยโรคลูปัส-โรคเอสแอลอีแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic SLE)ซึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเกี่ยวข้องกับระบบไต ระบบประสาทส่วนกลาง   ผิวหนัง  และระบบเลือด มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสที่เกิดจากการเหนี่ยวนำโดยยา

รักษากลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสอย่างไร?

แนวทางการรักษากลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส: ในขั้นแรกของการรักษาคือ ต้องหยุดการให้ยาที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการฯ  

ส่วนการรักษาขั้นต่อไป คือ  การรักษาตามอาการ  เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ อาจเริ่มต้นจากการให้ยาต้านอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่เสตียรอยด์/เอ็นเสด เป็นต้น  หรืออาจพิจารณาให้ยาเสตียรอยด์ในช่วงสั้นๆ     

นอกจากนั้น แพทย์จะไม่ให้ยาที่เป็นสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการฯนี้แก่ผู้ป่วยอีก และผู้ป่วยควรต้องจำชื่อยาที่เป็นสาเหตุให้ได้ หรือจดบันทึกไว้ เพื่อแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เมื่อมีการสั่งใช้ยาเพื่อการรักษาอาการ/โรคนี้ในครั้งต่อๆไปที่รวมถึงในการรักษาโรคต่างๆด้วย

กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส โดยส่วนใหญ่ ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรง  ผู้ป่วยอาจมีอาการ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  ปวดข้อต่างๆ เช่น ปวดเข่า แม้หยุดยาที่เป็นสาเหตุไปแล้วนานหลายเดือน

การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทางทีดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อยๆมีอาการดีขึ้นภายหลังหยุดยาที่เป็นต้นเหตุของกลุ่มอาการฯ  แม้การรักษาอาการแสดงอื่นๆบางอาการ เช่น ปวดข้อ อาจใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งมีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่จำเป็นต้องได้รับ’ยาเสตียรอยด์’ หรือเสียชีวิตจากกลุ่มอาการฯนี้

ป้องกันกลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสอย่างไร?

กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัสนี้ ยังไม่สามารถป้องกันได้ หากผู้ป่วยที่ใช้ยาที่มีความสามารถในการเหนี่ยวนำกลุ่มอาการฯนี้ (ดังกล่าวในหัวข้อ “สาเหตุฯ”)ควรรีบเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน หากมีอาการแสดงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ “อาการฯ”

บรรณานุกรม

  1. Borchers AT, Keen CL, Gershwin ME. Drug-induced lupus. Ann N Y Acad Sci 2007; 1108:166.
  2. Joseph F Merola, David S Posetsly, Monica Ramirez Curtis. Druf-induced Lupus. Uptodat. 2016.
  3. https://emedicine.medscape.com/article/1065086-overview#showall [2022,Oct8]  
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK441889/ [2022,Oct8]   
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK441889/ [2022,Oct8]