กลุ่มยาโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (Gonadotropin-releasing hormone analogue)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

กลุ่มยาโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง(Gonadotropin-releasing hormone analogue) คือ กลุ่มยาที่นำมารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น มะเร็งเต้านม, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ภาวะมีบุตรยาก, ฯลฯ

ทั้งนี้ ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน-รีลิสซิง (Gonadotropin-releasing hormone ย่อว่า จีเอนอาร์เอช/GnRH) คือ ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัสชนิดที่ควบคุมการปล่อยฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าที่มีความสำคัญต่อการควบคุมระบบสืบพันธุ์ของร่างกายมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง โดยมีบทบาทควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิง

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ภายหลังนักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ฮอร์โมนดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ จึงมีการพัฒนาเป็นยาชนิดต่างๆที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับฮอร์โมนดังกล่าว (Analogue) ซึ่งคือ ‘กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง’  โดยนำมาใช้เป็นยาในการรักษาโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น  

  • มะเร็งเต้านม, มะเร็งต่อมลูกหมาก ชนิดที่อาศัยฮอร์โมนในการเจริญเติบโต
  • รวมไปถึงภาวะที่ผิดปกติบางประการ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, เนื้องอกมดลูก  
  • และการนำไปใช้เพื่อช่วยในการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในภาวะมีบุตรยาก

ยาที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง อาจเป็นรูปแบบ’การกระตุ้น’การทำงาน (Agonist) หรือ 'ยับยั้ง' (Antagonist) ต่อตัวรับ(Receptor)ที่ต่อมใต้สมองส่วนหน้า

ในบทความนี้ จะพูดถึงบทบาทการทำงานของยานี้ที่มีลักษณะ’กระตุ้น’การทำงานของตัวรับ (ส่วนการยับยั้งการทำงานของตัวรับ แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ยาปิดกั้นตัวรับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน-รีลิสซิง(Gonadotropin-releasing hormone antagonist)’  

ยาในกลุ่มโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง(Gonadotropin-releasing hormone analogue หรือ Gonadotropin-releasing hormone agonist หรือย่อว่า GnRH agonist หรือ GnRH-A ) จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทย ใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น

กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

กลุ่มยาโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน-รีลิสซิง-01

ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีข้อบ่งใช้หรือสรรพคุณในการรักษาโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ:  เช่น

ก. มะเร็งชนิดที่ใช้ฮอร์โมนเพศในการเจริญเติบโต (Hormone Responsive Cancer):  เช่น

  • มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เช่น  ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin)  ยาโกเซอรีลิน (Goserelin)  ยาฮีสทรีลิน (Histrelin)  ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin)   ยา     ทริปโทริลิน (Triptorelin)
  • มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เช่น  ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin) ยาโกเซอรีลิน (Goserelin)   ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin)

ข. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่: เช่น  ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin)  ยาโกเซอรีลิน (Goserelin)   ยาทริปโทริลิน (Triptorelin)

ค. เนื้องอกมดลูก: เช่น  ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin) ยาโกเซอรีลิน (Goserelin) ยาฮีสทรีลิน (Histrelin) ยาทริปโทริลิน (Triptorelin)

ง. รักษาภาวะมีบุตรยาก/ใช้เพื่อการปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro Fertilization; IVF): เช่น  ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin)  ยาโกเซอรีลิน (Goserelin) ยาทริปโทริลิน (Triptorelin)

กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ระบบสืบพันธุ์ของร่างกาย มีความสัมพันธ์กับระบบต่อมไร้ท่อหรือกับฮอร์โมนเพศอย่างใกล้ชิด   ฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง  สร้างจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ โดยกระตุ้นการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary) ให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง (Follicle Stimulating Hormone; FSH) และฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone; LH) เพื่อไปกระตุ้นเนื้อเยื่อฟอลลิเคิล (Follicle) ในรังไข่  ให้เกิดการสร้างฮอรโมนเอสโตรเจน (Estrogen)ในผู้หญิง,   ส่วนในชาย จะกระตุ้นการเจริญของอัณฑะ เพื่อการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone)  และการสร้างอสุจิ

ซึ่งการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนดังกล่าว จะเกิดขึ้นในช่วงแรกประมาณ 2 สัปดาห์แรก หลังจากนั้น จะเกิดการยับยั้งสะท้อนกลับ/การป้อนกลับทางลบ (Negative feedback)  โดยลดการกระตุ้นการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า ทำให้ปริมาณฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง และฮอร์โมนลูทิไนซิงลดลง ทำให้ลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมสเทสโทสเทอโรนในระยะยาว  จึงมีการนำมาใช้รักษา มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก ชนิดที่อาศัยฮอร์โมนเพศในการเจริญเติบโต

นอกจากนี้ ยังมีการนำมาใช้รักษาโรคอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น

  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่:โดยอาศัยหลักการการลดการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนภายหลังใช้ยาไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ทำให้ลดการทำงานของรังไข่ ทำให้รอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดทีเกิดการฝ่อ
  • โรคเนื้องอกมดลูก: โดยอาศัยหลักการการลดการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Hypoestrogenic pseuomenopause) ทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงได้
  • ส่วนการนำมาใช้เพื่อใช้ในกระบวนการเด็กหลอดแก้วนั้น (In vitro fertilization) มีการนำหลักการของยานี้มาใช้ใน 2 รูปแบบ คือ
    • ยับยั้งไม่ให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ใช้ในการกระตุ้นการตกไข่ หรือ  ยับยั้งการตกไข่ก่อนวันที่กำหนด (ใช้หลักการการลดการทำงานของรังไข่เมื่อให้ยานี้ในระยะยาว) และ
    • การให้ยานี้เพื่อกระตุ้นการตกไข่ (เมื่อใช้ยาในระยะสั้น)

กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดความแรงที่จัดจำหน่าย: เช่น  

ก. ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin): มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดความแรงของยาที่จัดจำหน่าย:

  • ยาฉีดปราศจากเชื้อ (Sterile Solution for Injection): ขนาดความแรง 1 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร (1mg/mL)
  • ยาน้ำพ่นจมูก/ยาพ่นจมูก (Nasal Spray): ขนาดความแรง 1 มิลลิกรัมต่อการพ่นหนึ่งครั้ง
  • ยาฉีดปราศจากเชื้อ ชนิดดีโพ (ฉีดฝังยาในชั้นผิวหนัง แล้วยาค่อยๆ ปล่อยออกมาจากจุดที่ฉีดอย่างช้าๆ): ขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม ต่อบรรจุภัณฑ์ของยา

ข. ยาโกเซอรีลิน (Goserelin): เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ชนิดฉีดฝังใต้ผิวหนัง (Implant; prefilled syringe) ขนาดความแรง 3.6 มิลลิกรัม และ 10.8 มิลลิกรัม (ชนิดออกฤทธิ์ยาว) ต่อการฉีดหนึ่งครั้ง

ค. ยาฮีสทรีลิน (Histrelin): เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาฝัง (Implant), ใน 1 ชิ้นของยาฝังจะประกอบด้วย ตัวยา 50 มิลลิกรัม และตัวยาที่อยู่ในรูปเพลเลต(Pellets, รูปแบบการปลดปล่อยยาชนิดหนึ่ง) อีก 52 มิลลิกรัม

ง. ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin): เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาผงปราศจากเชื้อเพื่อผสมเป็นยาฉีด (Powder for Injection) ขนาดความแรงดังต่อไปนี้

  • ชื่อการค้าอีลิการ์ด (Eligard): ประกอบไปด้วยขนาดความแรง 5, 22.5, 45 มิลลิกรัมต่อการฉีดหนึ่งครั้ง
  • ชื่อการค้าอีแนนโทน (Enantone): ประกอบไปด้วยขนาดความแรง 88, 3.75, 11.25 และ 30 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุหนึ่งขวด

จ. ยาทริปโทริลิน (Triptorelin): มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาผงพร้อมผสมเพื่อเป็นยาฉีด, ขนาดความแรง 0.1 มิลลิกรัม ต่อขวด, ใช้ร่วมกับยาที่มีรูปแบบการปลดปล่อยนาน (Prolonged Release, P.R.) ขนาดความแรง 11.25 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุหนึ่งขวด

กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีขนาดการใช้ยาอย่างไร?

ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีขนาดการใช้ยาขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยา และประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น น้ำหนักตัว,  ภาวะการทำงานของตับและไต,  รวมถึงโรคอื่นที่กำลังเป็นร่วมอยู่,  ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการใช้ขนาดยาต่อผู้ป่วยเฉพาะรายไป

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยากลุ่มยาปิดกั้นตัวรับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะยาต้านชัก/ยากันชัก หรือยาที่มีส่วนผสมของเสตียรอยด์ชนิดรับประทาน
  • ประวัติโรคประจำตัวที่เคยเป็นหรือที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน   ประวัติโรคปวดหลัง  โรคเบาหวาน  ภาวะปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัดในผู้ชาย  หรือภาวะมีเลือดไหลทางช่องคลอดที่ผิดปกติในผู้หญิง โรคหัวใจ  และโรคตับ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร โดยทั่วไปยาในกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยา แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ซึ่งขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา และหากตรวจพบว่าเกิดการตั้งครรภ์ขณะใช้ยาในกลุ่มนี้ ให้แจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันที
  • หากผู้ใช้ยานี้ มีความประสงค์ที่จะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ และผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องทำการคุมกำเนิดไปอีกระยะหนึ่งภายหลังการรักษาหรือหยุดยา ปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม และสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกรถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังหยุดการใช้ยานี้

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ใช้ยา ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุดเพื่อนัดหมายการรับการบริหารยาครั้งต่อไป

กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง)  เช่น ปวดหัว   รู้สึกร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก  เหนื่อยล้า  อ่อนแรง  สูญเสียการรับรสชาติ รู้สึกตึงบริเวณเต้านม (คัดตึงเต้านม)  ความต้องการทางเพศลดลง  รู้สึกคันผิวหนัง  ผิวแห้ง    มีของเหลว/สารคัดหลั่ง/ตกขาวไหลจากช่องคลอด  รู้สึกกระวนกระวาย  หรือ ซึมเศร้า,   ทั้งนี้ อาจมีอาการนอนไม่หลับ  *ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น หรือไม่ทุเลาลง ให้รีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

*ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ เช่น ปวดบริเวณ มือ หลัง คอ และกราม พูดช้าลงหรือพูดลำบาก   วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง   คล้ายจะเป็นลม  ปวดกระดูก  ปัสสาวะลำบาก เหนื่อยล้าอย่างมาก  การมองเห็นเปลี่ยนไปหรือตาพร่ามัว ปากคอแห้ง  *รวมไปถึงหากเกิดอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคันขึ้นตามตัว ริมฝีปากและเปลือกตา/หนังตาบวม  หายใจลำบาก  *ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยาในกลุ่มนี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา  ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมาก มีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และ รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง  เช่น

  • ไม่ใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือการใช้ต้องอยู่ภายใต้วิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้กับยาอื่นที่อาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG, เช่น มีภาวะคิวทียาว/QT prolongation) เช่น ยาในกลุ่มยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ,   ยาฆ่าเชื้อบางชนิด(เช่น ยาโมซิฟลอกซาซิน/Moxifloxacin), หรือยารักษาอาการโรคจิตเภท (เช่น ยาโคลซาพีน/Clozapine   ยาฮาโลเพอริดอล  /Haloperidol   ยาโอแลนซาพีน/ Olanzapine  ยาควิไทอาพีน/Quetiapine) เป็นต้น
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหา มวลกระดูกต่ำ(เช่น โรคกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน),   ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ,  ผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ/ เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า   โรคความดันโลหิตสูง   โรคเบาหวาน   ควรได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัดขณะใช้ยานี้

กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน ไม่มีปฏิกิรยาะหว่างยากับยาชนิดอื่นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับยาที่อาจทำให้เกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น คิวทียาว (QT prolongation)  เช่น

  • ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ: เช่นยา  ควินิดีน (Quinidine), ไดโซไพรไมด์ (Dysopyramide),   อะมิโอดาโรน (Amiodarone),  โซทาลอล (Sotalol),  โดฟีทีไลด์ (Dofelitide),  ไอบูลิไทด์ (Ibulitide)
  • รวมไปถึงยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ: เช่น ยาโมซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin) 
  • และยารักษาอากาโรคจิตเภท: เช่นยา  โคลซาพีน (Clozapine),   ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), โอแลนซาพีน (Olanzapine), ควิไทอาพีน (Quetiapine)

ควรเก็บรักษากลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง อย่างไร?

ควรเก็บรักษากลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง: เช่น

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นจากที่มีแสงแดดส่องโดยตรง
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อนึ่ง: ยาบางชนิดอาจมีวิธีการเก็บรักษาเฉพาะ  จึงควรติดต่อฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายาที่ถูกต้อง หรือสอบถามจากเภสัชกรขณะรับยานี้

กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย เช่น

ชื่อสามัญทางยา

ชื่อการค้า

บริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย

บูว์เซอรีลิน (Buserelin)

ซูพรีแฟ็ก (Suprefact)

บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด

รีเซฟทัล (Receptal)

บริษัท อินเตอร์เว็ท (ประเทศไทย) จำกัด

โกเซอรีลิน (Goserelin)

โซลาเด็กซ์ (Zoladex)

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

ฮีสทรีลิน (Histreline)

แวนตาส (Vantas)

บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

ลิวโพรรีลิน (Leuprorelin)

อีนานโทน (Enantone)

บริษัท ทาเคดา จำกัด

อีลิการ์ด (Eligard)

บริษัท แอสเทลลัส ฟาร์มา (ไทยแลนด์) จำกัด

ทริปโทริลิน (Triptorelin)

ดิเฟอเรลีน (Diphereline)

บริษัท เอ.เมนารินี (ประเทศไทย) จำกัด

ดีคาเปปทิล (Decapeptyl)

บริษัท เฟอร์ริ่ง ฟาร์มาซูติคัลส์ จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. ชัยเลิศ พงษ์นริศร: https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/myoma-adenomyosis/ [2022, Aug6]
  2. พัทยา เฮงรัศมี. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis). ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1063 [2022, Aug6]
  3. กุลภัฒน์การแพทย์สหคลินิก. การปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF). http://kullapat.com/index.php?page=pagepreview&pagetype=1&pageids=16 [2022, Aug6]
  4. Lahlou N, Carel JC, Chaussain JL, Roger M. Pharmacokinetics and pharmacodynamics of GnRH agonists: clinical implications in pediatrics. J Pediatr Endocrinol Metab. 2000;13-1:723–37.
  5. Sankaran S, Manyonda IT. Medical management of fibroids. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol. 2008;22(4): 655–76.
  6. https://www.webmd.com/women/endometriosis/understanding-endometriosis-treatment [2022, Aug6]
  7. MIMS Thailand Online. Diphereline, Decapeptyl, Enantone, Eligard, Zoladex. www.mims.com
  8. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/7855 [2022, Aug6]
  9. http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503180941.pdf [2022, Aug6]