กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon-like Peptide Receptor Agonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เมื่อเรารับประทานอาหาร อาหารก็จะถูกย่อยเป็นโมเลกุลขนาดเล็กและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด โดยสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่พบใน แป้ง น้ำตาล ก็จะถูกย่อยเป็นน้ำตาลโมเลกุลขนาดเล็ก โดยปกติแล้วนั้น ร่างกายจะมีกลไกการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผ่านฮอร์โมนหลักๆ สองชนิดคือ ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) และกลูคากอน (Glucagon) ภายหลังการรับประทานอาหาร น้ำตาลกลูโคสซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็กจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในกระแสเลือด ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อให้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ หรือไปเก็บในตับและในกล้ามเนื้อในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) เพื่อลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสู่ระดับปกติ

ในขณะเดียวกัน หากร่างกายไม่ได้รับอาหารหรือได้รับน้ำตาลไม่เพียงพอ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะลดลง ตับอ่อนก็จะผลิตฮอร์โมนกลูคากอนเพื่อกระตุ้นให้น้ำตาลที่เก็บในรูปของไกลโคเจนในตับและในกล้ามเนื้อเปลี่ยนรูปมาเป็นน้ำตาลเพื่อเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย

ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ทำงานอย่างสมดุลกันเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน กล่าวคือ เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินอย่างผิดปกติ และระดับฮอร์โมนอินซูลินในเลือดลดลง

เป้าหมายการวิจัยและพัฒนายาในรุ่นก่อนๆ มีเป้าหมายหลักๆคือ

  • การเพิ่มปริมาณอินซูลินในกระแสเลือด เช่น ยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) และยาในกลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) รวมไปถึงการใช้อินซูลินแบบฉีด และ
  • เพิ่มการตอบสนองของร่างกายในการใช้น้ำตาล เช่น ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ยาในกลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinedione) เป็นต้น

เมื่อมีการศึกษามากขึ้น จึงพบว่าการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินโดยธรรมชาตินั้นไม่ได้เป็นแค่กลไกระหว่างระดับน้ำตาลในกระแสเลือดกับตัวฮอร์โมนอินซูลินเองเท่านั้น แต่ยังมีฮอร์โมนอื่นๆที่มีบทบาทต่อการทำงานของอินซูลินด้วย

ในปี ค.ศ. 1929 มีการค้นพบอินครีติน (Incretin) กลุ่มฮอร์โมนซึ่งสกัดได้จากระบบทางเดินอาหาร พบว่ามีบทบาทต่อการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ด้วย ต่อมาพบว่าอินครีตินมีบทบาทต่อการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน และยับยั้งการหลั่งของกลูคากอนอีกด้วย ฮอร์โมนที่สำคัญและมีบทบาทมากในกลุ่มนี้มีสองชนิดคือ

  • Glucagon-like Peptide-1 (GLP-1) หรือ ฮอร์โมนเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน และ
  • Gastric Inhibitory Polypeptide (GIP) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ลดการหลั่งของกรดและการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร และสามารถกระตุ้นการหลั่งของอินซูลินได้อีกด้วย

แต่ทว่าฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ ถูกกำจัดอย่างรวดเร็วด้วยเอนไซม์ Dipeptidyl Peptidase-4 (DPP-4) จึงนำไปสู่การพัฒนายาที่มีความสามารถเหมือนกับ GLP-1 หรือยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน ที่เรียกว่า ‘กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน(Glucagon-like Peptide Receptor Agonist)’ ชื่ออื่น คือ GLP-1 receptor agonists หรือ Incretin mimetics

การใช้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้น ควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชนิด ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ได้รับตัวยาหรือขนาดยาที่ถูกต้อง เหมาะสมแก่ผู้ป่วย

กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาในกลุ่มเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน มีคุณสมบัติ/ข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคต่อไปนี้

1. รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

2. ใช้ในการควบคุมน้ำหนักตัว (ในยากลุ่มนี้เฉพาะบางขนานเท่านั้น)

กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน (GLP-1) ออกฤทธิ์โดยทำหน้าที่เสมือนฮอรโมน GLP-1 ของร่างกาย เข้าจับกับตัวรับ/Receptor ชื่อ GLP-1R / GLP1 receptor) ส่งผลให้เกิด

1. การกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพื่อลดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด

2. ยับยั้งการหลั่งของกลูคากอนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนไกลโคเจนมาเป็นน้ำตาลในกระแสเลือด

3. ชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด

กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดดังต่อไปนี้ เช่น

กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาของยาในกลุ่มเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน มีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ ชนิดของยา, สภาวะของผู้ป่วย, ยาอื่นๆที่กำลังใช้ในการรักษาอยู่, ระดับน้ำตาลในเลือด, และอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายคนไป

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบถึงประวัติการแพ้ยาและแพ้สารเคมีต่างๆของผู้ป่วย
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบถึงประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อรับประทานเอง รวมไปถึง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเฉพาะยาหรือผลิตถัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลิน
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ หากดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ประวัติโรคซึมเศร้า โรคตับอ่อนอักเสบ เคยมีประวัติโรคระบบทางเดินอาหารหรือช่องท้อง เป็นโรคไตหรือต้องล้างไต (Dialysis) มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบ หากกำลังวางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกรทราบถึงประวัติการเข้ารับการผ่าตัด รวมไปถึงการผ่าตัดในช่องปาก หากต้องมีการผ่าตัดใดๆ รวมถึงการผ่าตัดในช่องปาก ให้แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทราบด้วยว่ากำลังใช้ยาในกลุ่มนี้
  • เข้าพบแพทย์หาก ป่วย มีโรคติดเชื้อ หรือมีไข้ มีความเครียด หรือได้รับการบาดเจ็บ เพราะอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด

หากลืมกินยา/ใช้ยาในกลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน ควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาในกลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน ควรทำดังนี้ เช่น

  • ในยาชนิดที่ต้องฉีดทุกวัน หากลืมฉีดยา ให้ฉีดโดยทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับการฉีดยาในครั้งถัดไปแล้ว ให้ข้ามไปฉีดยาในครั้งถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หากลืมฉีดยาติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้รีบแจ้งแพทย์ทราบ /ไปโรงพยาบาล
  • สำหรับยาที่ฉีดสัปดาห์ละ1ครั้ง หากลืมฉีดยา ให้ฉีดโดยทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากเกิน 3 วันไปแล้ว ให้ข้ามไปฉีดในครั้งต่อไปตามกำหนดการฉีดยาเดิมเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

*อย่างไรก็ดี บางผลิตภัณฑ์อาจมีข้อแนะนำเฉพาะ ควรสอบถามข้อมูลจากเภสัชกรเมื่อรับยานี้ทุกครั้ง

กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • แสบร้อนกลางอก (Heartburn)
  • มีน้ำมูก จาม ไอ
  • เหนื่อยล้า
  • ปัสสาวะลำบาก หรือปวดแสบขณะปัสสาวะ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา
  • หัวใจเต้นเร็ว

*อนึ่ง:

  • *หากอาการเหล่านี้เกิดอย่างต่อเนื่องและไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลง ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • *อาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่มีความรุนแรง และควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันทีเมื่อเกิดอาการ เช่น
    • เกิดอาการเจ็บหรือปวดบริเวณท้องช่วงบนซ้าย หรือตรงกลางของท้อง อาจมีลามไปที่บริเวณหลังด้วย
    • เกิดภาวะซึมเศร้า รู้สึกหรือมีความคิดทำร้ายตัวเอง
    • เกิดอาการดีซ่าน (ตาและผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง)
    • รู้สึกมึนงงคล้ายจะเป็นลม
    • และอาการแพ้ยา เช่นเกิดผื่นคันขึ้นตาม ลำตัว ตา ใบหน้า ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน เช่น

  • ไม่ใช้ในผู้ที่แพ้ยาหรือส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ต้องล้างไต (Dialysis)
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (มักพบในผู้ป่วยอายุน้อย ร่างกายมีความผิดปกติในการสร้างอินซูลิน)
  • ไม่ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis) มีอาการแสดง เช่น น้ำหนักตัวลด รู้สึกไม่สบาย ลมหายใจมีกลิ่นหวานๆ รู้สึกหวานๆในปาก เป็นต้น
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาในการย่อยอาหาร หรือผู้ป่วยที่มีอาหารในลำไส้นานกว่าปกติ
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือยารักษาเบาหวานที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
  • ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ในสตรีตั้งครรภ์หรือกำลังอยู่ในช่วงการให้นมบุตร ผู้ใช้ยานี้ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดร่วมด้วย
  • ผู้ใช้ยานี้ควรทราบว่า การใช้ยาในกลุ่มนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ รวมถึงการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วย ดังนั้น หากผู้ใช้ยานี้พบว่าเกิดก้อนหรืออาการบวมที่บริเวณคอ เสียงแหบ กลืนลำบาก หรือหายใจไม่สะดวก ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมกลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ เช่น

  • ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
  • ยาอะทอร์วาสแททิน (Atorvastatin)/ยาลดคอเลสเตอรอล
  • ยาดิจอกซิน (Digoxin)/ ยาโรคหัวใจ
  • ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด เช่นยากลุ่ม ACEI
  • ยาวาฟาริน (Warfarin)/ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด
  • และยาลดระดับน้ำตาลในเลือดบางชนิด/ยาเบาหวาน,

อนึ่ง โดยทั่วไป ปฏิกิริยาระหว่างยาดังกล่าว ไม่ได้มีความรุนแรง และไม่ต้องปรับระดับของยา แต่สำหรับยาที่มีช่วงการรักษาแคบ (Narrow Therapeutic) อาจต้องได้รับการตรวจระดับยาในเลือดอย่างใกล้ชนิด เช่น ยาวาฟาริน และยาดิจอกซิน รวมไปถึงการตรวจระดับน้ำตาลในกระแสเลือดด้วย

ควรเก็บรักษายากลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนอย่างไร?

การเก็บรักษากลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามชนิดของผลิตภัณฑ์/ชนิดยา แนะนำให้เก็บยาฯตามเอกสารกำกับยาของแต่ละชนิดของยา ซึ่งโดยทั่วไป ควรเก็บดังนี้ เช่น

  • เก็บยาในตู้เย็น อุณหภูมระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เมื่อเปิดใช้งานหรือผสมยาแล้ว สามารถเก็บยาในอุณหภูมิห้องได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์ ผู้ใช้ยาควรสอบถามจากเภสัชกรเมื่อได้รับยา
  • ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และหลีกเลี่ยงบริเวณที่แสง/แสงแดดส่องได้ถึงโดยตรง

ยากลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอนมีชื่อไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

กลุ่มยาเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์เลี่ยนแบบฮอร์โมนกลูคากอน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้จำหน่าย เช่น

บรรณานุกรม

  1. HIGHLIGHTS OF PRESCRIBING INFORMATION. TANZEUM (albiglutide). https://www.gsksource.com/pharma/content/dam/GlaxoSmithKline/US/en/Prescribing_Information/Tanzeum/pdf/TANZEUM-PI-MG-IFU-COMBINED.PDF[2019,Jan5]
  2. HIGHLIGHTS OF PRESCRIBING INFORMATION. BYDUREON™ (exenatide extended-release for injectable suspension). https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/022200s000lbl.pdf[2019,Jan5]
  3. Lyxumia 10 micrograms solution for injection from eMC. https://www.medicines.org.uk/emc/product/2965/smpc#INTERACTIONS[2019,Jan5]
  4. Trulicity 1.5 mg solution for injection in pre-filled pen from eMC. https://www.medicines.org.uk/emc/product/3634/smpc[2019,Jan5]