กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ (Vascular endothelial growth factor (VEGF) inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่/หลอดเลือดใหม่ (Angiogenesis) เป็นกระบวนการสำคัญที่มีบทบาทในการสร้างเซลล์ใหม่ รวมไปถึงการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง เซลล์ทุกชนิดมีความต้องการสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดมาใช้ในการเจริญเติบโตและการนำส่งของเสียจากเซลล์ออกไปเพื่อให้ร่างกายกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปเป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์มะเร็ง ไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ได้ จึงมีความจำเป็นที่เซลล์นั้นๆ/เซลล์มะเร็งจะต้องสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นเพื่อมาหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็งให้สามารถเจริญเติบโตได้

ปัจจัยควบคุมการสร้างเส้นเลือดใหม่มีอยู่หลายปัจจัย ทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยภายในอย่างหนึ่งที่สำคัญในการสร้างเส้นเลือดใหม่คือวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ (Vascular endothelial growth factor ย่อว่า VEGF) ซึ่งเป็นโปรตีนสื่อสาร(Signal protein)ที่มีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดขึ้นใหม่ ด้วยความรู้เหล่านี้ จึงมีการพัฒนา ยาที่มีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการทำงานของ VEGF เพื่อลดปัจจัยการสร้างเส้นเลือดใหม่ ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งเซลล์ใหม่ได้อย่างรวดเร็วหรือเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวใหม่ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เนื่องจากขาดออกซิเจนและสารอาหารจากเส้นเหลือด คือกลุ่มยาที่เรียกว่า “กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ (Vascular endothelial growth factor inhibitors ย่อว่า VEGF inhibitors)”

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ มีสรรพคุณที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งไต (Renal Cell Carcinoma; RCC) มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary thyroid cancer) มะเร็งเต้านม (Breast Cancer), มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer) มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย (Metastatic colorectal cancer) มะเร็งสมองจีบีเอ็ม และโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ(Age-related macular degeneration: AMD)

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เมื่อเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนนั้น เซลล์เหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่เพื่อนำสารอาหารและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเซลล์ใหม่เหล่านี้ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การเพิ่มการใช้ออกซิเจน กระบวนการอักเสบ กระบวนการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง เป็นต้น เซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งจะหลั่งสารต่างๆออกมาเพื่อช่วยในกระบวนการเติบโต/การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง เช่นสาร แองจิโอเจนิน (Angiogenin), ไฟโบรบลาสต์โกรทแฟกเตอร์ (Fibroblast Growth Factor; FGF), ทรานส์ฟอร์มิงโกรทแฟกเตอร์เบต้า (Transforming Growth Factor β; TGF- β), และวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ (Vascular endothelial growth factor; VEGF), สารเหล่านี้เมื่อจับกับตัวรับ(Receptor) เช่น ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine Kinase Receptors) บนผิวของเซลล์ ซึ่งจะเกิดการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง/เนื้องอก ด้วยความเข้าใจในการบวนการเหล่านี้ จึงมีการวิจัยยาต่างๆที่มีกลไกปิดกั้นฤทธิ์ของ VEGF ใน 2 รูปแบบคือ

ก. กลุ่มยาที่เข้าจับกับ VEGF โดยตรง เพื่อไม่ให้ VEGF สามารถเข้าจับกับตัวรับเพื่อไม่ให้เกิดการกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดใหม่ เช่น ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)

ข. กลุ่มยาที่ปิดกั้นตัวรับ เพื่อไม่ให้ VEGFเข้าจับตัวรับได้ เช่น ยาพาโซพานิบ (Pazapanib) เป็นต้น

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายยาในปัจจุบันดังต่อไปนี้

ก. ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab): เป็นยาน้ำชนิดหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Solution for Infusion) ขนาดความแรง 25 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร

ข. ยาโซราฟีนิบ (Sorafenib) เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ค. ยาซูนิทินิบ (Sunitinib) เป็นยาเม็ดแคปซูลแข็งชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 12.5 มิลลิกรัมต่อแคปซูล

ง. ยาเลนวาทินิบ (Lenvatinib) เป็นยาเม็ดแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 4, 10 มิลลิกรัมต่อแคปซูล จัดจำหน่ายในรูปแบบ Therapy Pack ที่ 10, 14, 18, 20 และ 24 มิลลิกรัมต่อ pack

จ. ยานินทีดานิบ (Nintedanib) เป็นยาแคปซูลรับประทาน ขนาดความแรง100 และ 150 มิลลิกรัมต่อแคปซูล

ฉ. ยาพาโซพานิบ (Pazopanib) เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ช. ยาพีแกบทานิบ (Pegaptanib) ชนิดยาน้ำฉีดเข้าวุ้นตา ขนาดความแรง 0.3 มิลลิกรัม/0.09 มิลลิลิตร

ซ. ยารีโกราฟีนิบ (Regorafenib) เป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 40 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ฌ. ยาแวนดีทานิบ (Vandetanib) เป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 100 และ 300 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ญ. ยาอะซิทินิบ (Axitinib) เป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 1 และ 5 มิลลิกรัมต่อเม็ด

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาในกลุ่มกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์มีความหลากหลาย เช่น ขึ้นกับ ชนิดของมะเร็ง สภาวะของผู้ป่วย การทำงานของตับและของไต และประวัติธรรมชาติของโรค หรือการใช้ยาชนิดอื่นๆในการรักษาร่วมอยู่ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยา/บริหารยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยเป็นเฉพาะรายไป

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยเฉพาะหากมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ยาเสตียรอยด์ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน(Warfarin) ยาต้านชัก ยาฆ่าเชื้อ ยาต้านมาลาเรีย ยาต้านไวรัสเอชไอวี และยาต้านมะเร็งชนิดต่างๆ ควรแจ้งให้ แพทย์ เภสัชกร พยาบาลทราบ
  • ประวัติการเกิดโรคต่างๆ โรคประจำตัว โรคเรื้อรัง ต่างๆ โดยเฉพาะ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคหัวใจ มีประวัติการ เจ็บหน้าอกแน่นหน้าอก มีปัญหาด้านการแข็งตัวของเลือด โรคติดเชื้อต่างๆ ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ประวัติโรคไวรัสตับอักเสบ โรคตับ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำต่างๆ โรคมะเร็ง และประวัติการใช้รังสีรักษา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร ยาบางชนิดในกลุ่มนี้อาจส่งผลให้มีบุตรได้ยาก อย่างไรก็ดี หากเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ผู้ใช้ยากลุ่มนี้บางชนิดควรได้รับการคุมกำเนิดระหว่างการใช้ยาและหลังจากการใช้ยาไปแล้วระยะหนึ่ง (สอบถามเพิ่มเติมจาก แพทย์ เภสัชกร เนื่องจากยาแต่ละชนิดมีข้อควรระวังแตกต่างกันออกไป) ส่วนผู้ใช้ยาเพศชายควรใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • แจ้งให้แพทย์/ทันตแพทย์ทราบว่า กำลังใช้ยาในกลุ่มนี้ หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดต่างๆ
  • แจ้งให้แพทย์/เภสัชกรทราบ หากคุณกำลังสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่อาจทำให้ฤทธิ์ของยาบางชนิดในกลุ่มนี้ลดลง อาจทำให้ไม่ได้ประสิทธิผลทางการรักษาอย่างที่ต้องการ

หากลืมกินยา/ใช้ ยากลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว ยาชนิดรับประทานทุกชนิดรวมยาในกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ หากลืมรับประทานยา ให้ทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับมื้อยาถัดไปแล้ว ให้ข้ามไปทานมื้อยาถัดไปได้เลย โดยทั่วไป ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

หากเป็นยาในรูปแบบฉีดหรือรูปแบบอื่นๆที่ต้องเข้ารับการบริหาร/ให้ยาที่สถาน พยาบาล ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการนัดหมายการให้ยานั้นๆ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรสอบถามจากเภสัชกรเพิ่มเติมขณะรับยาต่างๆ เพราะยาบางชนิดอาจมีวิธีการรับประทานยาเมื่อลืมทานยาแตกต่างออกไป

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่มีความแตกต่างกันไปตามชนิดของแต่ละตัวยา ตัวอย่างของอาการไม่พึงประสงค์โดยทั่วไปที่อาจเกิดขึ้น เช่น เหนื่อยง่าย รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผิวหนังมีสีแดง คัน ผิวแห้ง หรือผิวหนังลอก ผมร่วง ความอยากอาหารลดลง/เบื่ออาหาร ท้องเสีย มีแผลในช่องปาก น้ำหนักตัวลด มีอาการปวดข้อ มีอาการชาบริเวณมือและเท้า เสียงแหบ เมื่อเกิดแผล แผลจะหายช้า ไอ ซึ่งหากอาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลง ควรรีบแจ้งให้แพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

หากผู้ป่วยประสบอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น อ่อนเพลียอย่างรุนแรง เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก ปวดต้นคอ หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก เกิดอาการชัก มึนงง สับสน อารมณ์แปรปรวน การมองเห็นเปลี่ยนไปหรือเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน มีอาการเหมือนเป็นโรคติดเชื้อบ่อยครั้ง เช่น เจ็บคอ มีไข้ หนาวสั้น หรือเกิดอาการบวมบริเวณรอบตา ใบหน้า มือ และเท้า เจ็บ/ปวดท้อง มีแผลในช่องปากมาก ปัสสาวะมีโฟม/เป็นฟอง ผิวหนังแห้งลอกอย่างมาก อุจจาระมีสีดำเหนียว หรือมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีสีเข้ม/สีเหมือนน้ำปลา มีเลือดออกทางช่องคลอด เลือดกำเดาไหลบ่อยครั้ง ผิวหนังและตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเหมือนอาการโรคดีซ่าน หรือพบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา (เช่นเกิดผื่นคันขึ้นตามลำตัว ใบหน้า เปลือกตา/หนังตา ริมฝีปากบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก) ให้รีบนำผู้ป่วยเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยากลุ่มนี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายากลุ่มนี้ จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ ผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มนี้ส่วนมาก มีพบว่าเกิดอาการไม่พีงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและรีบแจ้งให้แพทย์ พยาบาล ผู้ทำการรักษาทราบ และรีบไปโรงพยาบาลรีบด่วน/ทันที/ฉุกเฉิน ไม่ต้องรอถึงวันนัดหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์อย่างไร?

เนื่องจากยาในกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ มีความหลากหลาย มีข้อควรระวังพิเศษสำหรับยาบางชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึงข้อควรระวังโดยทั่วไปของกลุ่มยานี้ ข้อควรระวังสำหรับยานี้แต่ละชนิดสามารถศึกษาได้เพิ่มเติมจากเอกสารกำกับยาของตัวยานั้นๆ หรือสอบถามจากแพทย์หรือจากเภสัชกร

ข้อควรระวังโดยทั่วไปของกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา หรือแพ้สารอื่นในตัวยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมอย่างน้อย 2 วิธีร่วมกัน
  • ยาบางชนิดในกลุ่มนี้ แม้หยุดยาแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องคุมกำเนิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงระยะเวลาที่ต้องคุมกำเนิดภายหลังหยุดการใช้ยานั้นๆ
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบหากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดใดๆขณะใช้ยาในกลุ่มนี้ ยาในกลุ่มนี้โดยทั่วไปจะทำให้แผลหายได้ช้า
  • ยานี้อาจมีผลต่อระดับความดันโลหิต ผู้ป่วยที่มีประวัติความดันโลหิตสูงควรได้รับการตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ
  • ยาซูนิทินิบ อาจทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีผมจางลง ซึ่งเป็นสีจากยาโดยไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด และสีผิว/สีผมจะกลับมาปกติหลังหยุดยานี้แต่อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายเดือนนับจากหยุดยานี้
  • ยาในกลุ่มนี้อาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ก่อนแล้ว หรือกำลังได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จึงควรต้องรับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดง (Hand-Foot Syndrome) ซึ่งเป็นอาการมือและส้นเท้าบวม แดง และเจ็บ ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ พยาบาล ทราบ หากเกิดอาการดังกล่าว
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลโดยทันที หากมีอาการปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน เพราะยากลุ่มนี้บางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดทางเดินอาหารทะลุ/ลำไส้ทะลุได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยากลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ อย่างหลากหลาย ยาแต่ละชนิดมีรูปแบบการเมทาบอไลต์(Metabolite)ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ปฏิกิริยาระหว่างยาอาจมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของแต่ละตัวยา โดยทั่วไปแล้ว การใช้ยาในกลุ่มนี้ มีข้อควรระวังปฏิกิริยาระหว่างยา ได้แก่

ก. แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบถึงยาต่างๆที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะยาต้านมะเร็ง และยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆ

ข. หลีกเลี่ยงการรับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนนั้นๆได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคน้อยกว่าบุคคลทั่วไป หรือ ยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์บางชนิด อาจทำให้วัคซีนนั้นๆไม่มีประสิทธิภาพตามควร

ค. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ ร่วมกับยาในกลุ่มที่อาจทำให้เกิดการผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ/EKG ที่เรียกว่า คิวทียาว (QT Prolongation หรือ ตอร์ซาดเดอปวงต์/Torsades de pointes) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่แสดงออกทางการเต้นของหัวใจผิดปกติ อาจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ยาลีฟลูโนไมด์ (Leflunomide) ซึ่งเป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

ง. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนส (Bisphosphonates)กับยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์บางชนิด ตัวอย่างเช่นยา บีวาซิซูแมบ โซราฟินิบ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนส เช่น การเกิดภาวะกระดูกกรามตาย (Risk for osteonecrosis of the jaw)

รายละเอียดของปฏิกิริยาระหว่างยาของกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เอกสารกำกับยานั้นๆ หรือสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร

ควรเก็บรักษายาในกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์อย่างไร?

โดยทั่วไป สามารถจัดเก็บยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ได้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บในที่แห้งและเย็น พ้นจากบริเวณที่มีความชื้น เช่น ใกล้ห้องครัวหรือห้องน้ำ หรือในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงได้โดยตรง เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ดี ยาบางชนิดอาจมีวิธีการเก็บรักษาพิเศษ เช่น ยาบีวาซิซูแมบ ยาพีแกบทานิบ ควรเก็บในตู้เย็น อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ดังนั้น ควรสอบถามจากเภสัชกรถึงวิธีการเก็บรักษายาขณะรับยาต่างๆ ส่วนในสถานพยาบาลควรติดต่อฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายาแต่ละชนิด

กลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มยายับยั้งวาสคูลาร์เอนโดทิเลียลโกรทแฟกเตอร์ มียาชื่อการค้าอื่น ดังต่อไปนี้ เช่น

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Drug Information Handbook with International Trade Names. 23; 2014.
  2. Cao Y. Endogenous angiogenesis inhibitors and their therapeutic implications. Int. J. Biochem. Cell Biol. 2001; 33 (4): 357–69.
  3. HIGHLIGHTS OF PRESCRIBING INFORMATION. MACUGEN (pegaptanib sodium injection). U.S FDA.
  4. Gotink KJ, Verheul HM. Anti-angiogenic tyrosine kinase inhibitors: what is their mechanism of action? Angiogenesis 2010; 13(1):1–14.
  5. MedlinePlus. Bevacizumab, Sorafenib, Regorafenib, Nintedanib.