กลั้นไว้ ไม่ไหวแล้ว (ตอนที่ 6)

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

สำหรับการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการที่เป็น ความรุนแรง และสาเหตุหลัก ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral techniques) โดย

  • การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder training) เพื่อยืดช่วงเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น อาจเริ่มกลั้นไว้ตั้งแต่ 10 นาทีหลังจากที่รู้สึกปวดปัสสาวะ ทั้งนี้เพื่อฝึกให้ปัสสาวะได้ทุก 2-4 ชั่วโมง
  • ถ่ายปัสสาวะซ้ำ (Double voiding) เพื่อทำให้กระเพาะปัสสาวะว่างมากที่สุด กล่าวคือ การถ่ายปัสสาวะก่อนแล้วรอสักเล็กน้อย จึงค่อยถ่ายปัสสาวะซ้ำอีกที
  • วางแผนการเข้าห้องน้ำ (Scheduled toilet trips) ด้วยการเข้าห้องน้ำทุก 2-4 ชั่วโมง แทนที่จะรอให้ปวดก่อน
  • ควบคุมอาหารและน้ำดื่ม (Fluid and diet management) อาจต้องเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรืออาหารที่เป็นกรด ลดปริมาณของเหลวที่บริโภค ลดน้ำหนัก หรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย (Physical activity)

2. การขมิบหรือการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor muscle exercises หรือ Kegel exercises) เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้ โดย

  • ขมิบให้กล้ามเนื้อหดตัวแรงที่สุดเท่าที่ทำได้นาน 5 วินาที แล้วหยุดขมิบให้กล้ามเนื้อคลายทันทีนาน 5 วินาที นับเป็น 1 ชุด
  • พยายามทำครั้งละ 3 ชุดติดต่อกัน ให้ได้ 10 ครั้งต่อวัน

3. การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electrical stimulation) โดยจะสอดลวดเชื่อม (Electrode) ผ่านทางช่องทวารหนักหรือช่องคลอด (Vagina) เพื่อกระตุ้นและทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง กระแสไฟอ่อนๆ จะช่วยในการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อมีแรงดันในช่องท้อง (Stress incontinence) และอาการปัสสาวะทันทีทันใดหลังปวดปัสสาวะ (Urge incontinence) แต่อาจต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือน

4. การให้ยา (Medications) ซึ่งโดยทั่วไป ได้แก่

  • Anticholinergics – ช่วยลดการทำงานของกระเพาะปัสสาวะที่มากเกินไป (Overactive bladder) ซึ่งอาจช่วยในกรณีมีอาการปัสสาวะทันทีทันใดหลังปวดปัสสาวะ
  • Mirabegron (Myrbetriq) – ใช้รักษากรณีมีอาการปัสสาวะทันทีทันใดหลังปวดปัสสสาวะ ยานี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและเพิ่มปริมาณที่กระเพาะปัสสาวะจะบรรจุน้ำได้ ทำให้ปัสสาวะได้มากในแต่ละครั้ง ช่วยให้กระเพาะปัสสาวะว่างขึ้น
  • Alpha blockers – ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะ (Bladder neck muscles) และใยกล้ามเนื้อ (Muscle fibers) ในต่อมลูกหมากของผู้ชาย ทำให้กระเพาะปัสสาวะว่างขึ้น
  • Topical estrogen – ที่อยู่ในรูปของครีมทาช่องคลอด วงแหวน (Ring) หรือแผ่นปิด (Patch) อาจช่วยลดอาการกลั้นปัสสาะไม่อยู่ได้

แหล่งข้อมูล

1. Urinary incontinence. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-incontinence/basics/definition/con-20037883 [2014, September 19].