กลั้นไว้ ไม่ไหวแล้ว (ตอนที่ 4)

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

สำหรับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่คงอยู่นานนั้น มีสาเหตุมาจากปัญหาของร่างกายหรือร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น

  • ตั้งครรภ์ – ทำให้ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง และน้ำหนักของมดลูกที่เพิ่มขึ้นไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
  • การคลอดบุตร – ทำให้กล้ามเนื้อช่องคลอดอ่อนแรง และอาจมีผลต่อเส้นประสาทที่กระเพาะปัสสาวะ
  • อายุที่เปลี่ยนไป – เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะถดถอย ทำให้ความสามารถในการเก็บน้ำของกระเพาะปัสสาวะลดลง
  • วัยหมดประจำเดือน (Menopause) – ผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง ซึ่งฮอร์โมนนี้มีผลต่อความแข็งแรงของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ (Urethra) ความถดถอยของเนื้อเยื่อเหล่านี้สามารถทำให้อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แย่ลง
  • การตัดมดลูก (Hysterectomy) – เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการผ่าตัดที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงอาจจะกระเทือนต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor muscles) ซึ่งทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ต่อมลูกหมากโต (Enlarged prostate) – ในผู้ชายสูงอายุ การกลั้นปัสสาวะมักเกิดจากภาวะต่อมลูกหมากโตที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง (Benign prostatic hypertrophy = BPH)
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) – โดยส่วนใหญ่การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มีการอุดกั้น (Obstruction) – เนื้องอกที่อยู่ในทางเดินปัสสาวะสามารถที่จะกลั้นการไหลปกติของปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะกระปริดกระปอย (Overflow incontinence) นอกจากนี้บางครั้งก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะก็เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะรั่วไหล
  • ความผิดปกติของระบบประสาท (Neurological disorders) – อันเนื่องมาจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis = MS) โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) การอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) เนื้องอกในสมอง หรือบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ล้วนแต่กระทบต่อการส่งสัญญาณประสาทที่ความคุมกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่

  • เพศ – ผู้หญิงมักจะมีอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อมีแรงดันในช่องท้อง (Stress incontinence) ในขณะที่ผู้ชายที่มีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมากจะมีความเสี่ยงในการปัสสาวะทันทีทันใดหลังปวดปัสสาวะ (Urge incontinence) และมีปัสสาวะบ่อยหรือมีปัสสาวะกระปริดกระปอย (Overflow incontinence) มากกว่า
  • อายุ – ยิ่งอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะจะอ่อนแรงลง ทำงานได้ไม่ดี
  • น้ำหนักมาก – น้ำหนักตัวที่มากจะไปกดกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อโดยรอบ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการไอหรือจาม
  • โรคอื่นๆ – โรคเกี่ยวกับระบบประสาทหรือโรคเบาหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

แหล่งข้อมูล

1. Urinary incontinence. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-incontinence/basics/definition/con-20037883 [2014, September 17].