กลั้นไว้ ไม่ไหวแล้ว (ตอนที่ 3)

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ทั้งนี้ ชนิดของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดมากที่สุดในผู้หญิง คือ การปัสสาวะเล็ดเมื่อมีแรงดันในช่องท้อง stress urinary incontinence และการปัสสาวะทันทีทันใดหลังปวดปัสสาวะ urge urinary incontinence

นอกจากนี้การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ยังอาจแบ่งเป็น

  • Structural incontinence - เป็นการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดจากการมีปัญหาโครงสร้างของร่างกาย เป็นกรณีที่เกิดยาก มักตรวจพบในวัยเด็ก เช่น การมีท่อไตผิดปกติ (Ectopic ureter) เป็นต้น
  • Coital incontinence (CI) - เป็นการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดระหว่างการร่วมเพศ (Penetration หรือ Orgasm) หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง (Masturbation) ซึ่งมีรายงานว่าเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 10-24 ของผู้หญิงที่ชอบมีเพศสัมพันธ์และมีความผิดปกติของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor disorders)

ความจริงแล้วการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่อาจมีสาเหตุมาจากนิสัย พฤติกรรม ผลจากการใช้ยาบางชนิด หรือปัญหาทางร่างกาย

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบชั่วคราว อาจมีสาเหตุจากเครื่องดื่มหรืออาหารบางชนิดที่สามารถกระตุ้นการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและเพิ่มปริมาณปัสสาวะได้ เช่น

  • แอลกอฮอล์
  • คาเฟอีน
  • กาแฟหรือชาที่ปราศจากคาเฟอีน (Decaffeinated tea and coffee)
  • น้ำอัดลม (Carbonated drinks)
  • น้ำตาลเทียม (Artificial sweeteners)
  • แบะแซ (Corn syrup)
  • อาหารที่มีเครื่องเทศ (Spice) น้ำตาล หรือเป็นกรด โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลส้ม
  • ยาเกี่ยวกับหัวใจและความดัน ยาระงับประสาท (Sedatives) และยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants)
  • วิตามินบีหรือวิตามินซีในปริมาณที่มาก

    และอาจเกิดจาก

  • การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) ที่สามารถระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ เป็นสาเหตุกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะ และบางทีก็กลั้นไม่อยู่ โดยสัญญานหรืออาการการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจะรวมถึง ความรู้สึกร้อนเมื่อปัสสาวะ (Burning sensation) และปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นเน่า (Foul-smelling urine)
  • ท้องผูก (Constipation) เพราะตำแหน่งของไส้ตรง (Rectum) อยู่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะและมีระบบประสาทร่วมกัน อุจจาระที่แข็งเป็นก้อนในไส้ตรงอาจเป็นสาเหตุให้เส้นประสาทเหล่านี้ทำงานมากเกิน ทำให้ปัสสาวะบ่อย

แหล่งข้อมูล

1. Urinary incontinence. http://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_incontinence [2014, September 16].
2. Urinary incontinence. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-incontinence/basics/definition/con-20037883 [2014, September 16].