กลั้นไว้ ไม่ไหวแล้ว (ตอนที่ 2)

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence = UI หรือ Involuntary urination) หรือ ปัสสาวะเล็ดราด เป็นปัญหาที่พบบ่อยและทำให้ลำบากใจ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่นเดียวกับอาการปัสสาวะรดที่นอนที่เกิดในเด็ก (Nocturnal enuresis หรือ Bed wetting) โดยผู้หญิงมีโอกาสในการเกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดเป็น 2 เท่าของผู้ชาย

ร้อยละ 35 ของผู้สูงอายุทั่วโลก ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และจากสถิติในปี 2557 จำนวนร้อยละ 30-40 ของผู้สูงอายุชาวอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะประสบกับปัญหานี้

ในเด็ก การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มักจะหายไปหลังจากเด็กอายุได้ 5 ปีและโตขึ้น มีประมาณร้อยละ 10 ที่เกิดในเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 5 เกิดในเด็กอายุ 10 ปี และร้อยละ 1 ที่เกิดในเด็กอายุ 18 ปี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะระบบประสาทควบคุมของเด็กอยู่ระหว่างการพัฒนา

ในส่วนของผู้หญิง อาการนี้เกิดได้กับผู้หญิงทุกวัย แต่มักจะพบได้บ่อยในผู้หญิงสูงอายุซึ่งมีโอกาสเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย มีการประเมินว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่อายุมากกว่า 60 ปี จะมีปัญหาเรื่องการควบคุมกระเพาะปัสสาวะ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความอ่อนแอของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เกิดจากการคลอดบุตร

สำหรับผู้ชาย แม้ว่าจะเกิดอาการนี้ได้ในทุกวัย แต่อาการนี้มักจะเกิดในผู้ชายสูงอายุมากกว่า และมีอัตราการเกิดสูงขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นตามลำดับ

บางคนอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดเล็กน้อยบางครั้ง ในขณะที่คนอื่นอาจทำให้กางเกงเปียกได้เลย การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มีหลายชนิด ได้แก่

  • Stress incontinence หรือ การปัสสาวะเล็ดเมื่อมีแรงดันในช่องท้อง เป็นภาวะที่มีอาการปัสสาวะเล็ดลอดออกมาในขณะที่มีการเพิ่มแรงเบ่งกดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ หรือแรงเบ่งในช่องท้อง ซึ่งได้แก่ การไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย หรือยกของหนัก เป็นต้น
  • Urge incontinence หรือ การปัสสาวะทันทีทันใดหลังปวดปัสสาวะ เป็นภาวะที่มีความรู้สึกปวดปัสสาวะมาก ปวดกลั้นและไปห้องน้ำไม่ทัน แต่กลับปัสสาวะราดออกมาก่อน อาจปวดปัสสาวะบ่อยหรือตลอดคืน สาเหตุของโรคอาจมาจากเรื่องเล็กน้อย เช่น การติดเชื้อ หรือ มาจากเรื่องร้ายแรง เช่น ระบบประสาททำงานผิดปกติหรือเป็นเบาหวาน
  • Overflow incontinence เป็นภาวะที่มีปัสสาวะบ่อยหรือมีปัสสาวะกระปริดกระปอย เพราะมักจะมีปัสสาวะเต็มกระเพาะ แต่จะปัสสาวะได้ครั้งละไม่มาก หลังปัสสาวะจึงรู้สึกว่ายังปัสสาวะไม่หมด ใช้เวลาปัสสาวะนานแต่ปัสสาวะออกน้อย
  • Functional incontinence เป็นภาวะปัสสาวะเล็ดเนื่องมาจากมีความลำบากในการเดินทางสู่ห้องน้ำได้ทันเวลา หรือปลดกระดุมกางเกงไม่ทัน โดยมีสาเหตุมาจากโรคทางกาย ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวลำบาก เช่น โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
  • Mixed incontinence เป็นกลุ่มที่มีอาการมากกว่า 1 ชนิด ร่วมกัน

แหล่งข้อมูล

1. Urinary incontinence. http://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_incontinence [2014, September 15].
2. Urinary incontinence. http://www.nhs.uk/conditions/incontinence-urinary/Pages/Introduction.aspx [2014, September 15].
3. Urinary incontinence. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-incontinence/basics/definition/con-20037883 [2014, September 15