กลั้นไว้ ไม่ไหวแล้ว (ตอนที่ 1)

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ศ.นพ.วชิร คชการ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้อธิบายว่า การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่พบบ่อย จนกลายเป็นความเคยชินเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุ เป็นภาวะที่สามารถรักษาดูแลให้หาย หรือทําให้อาการดีขึ้นได้ ซึ่งการดูแลรักษาอาจมีความแตกต่างจากผู้ที่มีอายุน้อยกว่าอยู่บ้าง เพราะปัจจัยด้านสุขภาพที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละคน

ศ.นพ.วชิร ชี้แจงว่า อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุนี้ อาจเกิดได้จากสาเหตุที่แตกต่างจากอาการในผู้อายุน้อยกว่า และอาจเป็นสิ่งที่แก้ไขกลับคืนได้ง่าย หรือเป็นสภาวะที่เป็นเพียงชั่วคราว โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. ผู้ป่วยสูงอายุมีอาการเจ็บป่วยด้วยสาเหตุอื่น ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทํางานของระบบปัสสาวะ ซึ่งการเจ็บป่วยดังกล่าว อาจเกิดผลกระทบต่อการทํางานของสมอง ทําให้เกิดอาการเพ้อ สับสน จนทําให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีปัสสาวะเล็ดราด เมื่อได้ทําการรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นๆ เรียบร้อยแล้ว อาการดังกล่าวจะหายไปด้วย
  2. การอักเสบติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทําให้มีอาการปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะราด ซึ่งหลังจากรักษาอาการอักเสบติดเชื้อหายแล้ว อาการปัสสาวะเล็ดราดหายไปได้
  3. ปัญหาด้านจิตใจ โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในวัยผู้สูงอายุ เมื่อเกิดอาการซึมเศร้าก็อาจจะมีปัสสาวะเล็ดราด หลายครั้งพบว่าผู้สูงอายุมีอาการซึมเศร้า เพราะถูกทอดทิ้ง ขาดการเอาใจใส่จากลูกหลาน และมีอาการปัสสาวะเล็ดราดตามมา เมื่อได้ทําการรักษาอาการซึมเศร้า หรือทําให้ดีขึ้น ก็จะทําให้อาการปัสสาวะเล็ดราดหายไปด้วย
  4. ผลจากการใช้ยา มียาหลายชนิดที่ส่งผลให้มีปัสสาวะเล็ดราด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้อากาศ ยาขยายหลอดลม ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดท้องที่ทําให้มีปัสสาวะตกค้างถ่าย มีปัสสาวะล้นออกมา ยาลดอาการซึมเศร้า หรือยาที่ใช้ในการรักษากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ ทําให้มีปัสสาวะออกไม่หมด มีปัสสาวะล้นออกมาเช่นกัน และประการสําคัญ ผู้สูงอายุมักมียาประจําตัวหลายชนิด รวมถึงอาจได้รับยาเพิ่ม เมื่อมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ได้ เพียงปรับการใช้ยาหรือเปลี่ยนยาบางชนิดเท่านั้น
  5. ความผิดปกติของฮอร์โมนทําให้มีปัญหาเบาหวาน เบาจืด ทําให้มีผลต่อการกลั้นปัสสาวะ เพราะเบาหวาน ซึ่งพบได้ในวัยสูงอายุอาจจะมีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ ทําให้ระคายเคือง หรือทําให้ปัสสาวะออกมามากได้

    ส่วนเบาจืดเกิดจากการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ ทําให้การดูดน้ำกลับผิดปกติ ทําให้ปริมาณปัสสาวะออกมามาก ทําให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้เช่นกัน หากเกิดจากปัญหาทั้งสองก็ต้องรักษาสาเหตุพื้นฐานดังกล่าวก่อน จึงจะทําให้อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ดีขึ้นได้

  6. ข้อจํากัดในการเดิน การเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น มีอาการปวดเอว ปวดหลัง ปวดเข่า ทําให้เดินลําบาก จะขยับตัวเดินไปห้องน้ำได้ใช้เวลานาน ทําให้ปัสสาวะราดออกมาก่อน นอกจากนั้น อาจมีปัญหาด้านสายตาที่มองไม่ชัด ทําให้เดินไปห้องน้ำช้า ปัสสาวะราดก่อนเช่นกัน การแก้ไขคือ ต้องอํานวยความสะดวกในการเข้าห้องน้ำ เช่น เพิ่มแสงสว่าง ร่นระยะทางการไปห้องน้ำ หรืออาจใช้กระโถนช่วยก็ได้
  7. ท้องผูก ทําให้ก้อนอุจจาระที่จับเป็นก้อนแข็งกดบริเวณท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะส่งผลให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เมื่อได้รับการแก้ไขเอาก้อนอุจจาระออก จะทําให้การกลั้นปัสสาวะดีขึ้นได้

แหล่งข้อมูล

1. การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000035342 [2014, September 14].