กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? มีกี่ประเภท? พบบ่อยไหม?

กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) คือ โรคที่เกิดจากมีการอักเสบ บวม แดง ของเนื้อเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหาร อาการหลัก คือ ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาจทั้งปวดแสบ และ/หรือปวดบีบ อาการปวดฯเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ อาจสำพันธ์กับอาหารหรือไม่ก็ได้ บางคนปวดเป็นๆหาย บางคนปวดนานเป็น ชั่วโมง กลางวัน หรือ กลางคืน อาจมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น เรอ แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน อิ่มเร็ว

ประเภท/ชนิดของกระเพาะอาหารอักเสบ:

ทั่วไป กระเพาะอาหารอักเสบมี2ชนิด/ประเภท:

ก. กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน:

เมื่อมีอาการกระเพาะอาหารอักเสบ และรักษาได้หายภายในประมาณ 1-3 สัปดาห์ เรียกว่า “โรคกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน (Acute Gastritis)” ซึ่งมักเกิดจากสาเหตุกระเพาะอาหารติดเชื้อเฉียบพลัน เช่น ไวรัสลงกระเพาะ,

ข. กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง:

เมื่อมีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ นานเป็นเดือน หรือ เป็นปี เรียกว่า “โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (Chronic Gastritis)” ซึ่งมักเกิดจากกระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรัง ชื่อ ‘เอช.ไพโลไร’ (แนะนำอ่านรายละเอียดจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคติดเชื้อเอชไพโลไร’)

กระเพาะอาหารอักเสบ พบบ่อยทั่วโลก พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ ชนิดเรื้อรังพบน้อยในเด็กแต่พบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้น, และพบโรคเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย

กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน ในสหรัฐอเมริกามีรายงาน(ช่วง ค.ศ. 2009-2011) พบ6.3 รายต่อประชากร 1 แสนคน

ส่วนกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง พบบ่อยทั่วโลก มีรายงานทั่วโลกพบกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากเชื้อ เอช-ไพโลไรได้ประมาณ 50%ของประชากรโลก มักพบในผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป เพศหญิงและเพศชายพบใกล้เคียงกัน

โรคกระเพาะอาหารอักเสบเกิดจากอะไร?

กระเพาะอาหารอักเสบ1

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ทั่วไปได้แก่  

  • กินยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs, Non-steroidal antiinflammatory drugs) โดยเฉพาะการกินยาฯอย่างต่อเนื่อง เช่น แอสไพริน,  Ibuprofen,  Celecoxib,  และ Indomethacin, หรือ ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) ซึ่งยาในกลุ่มดังกล่าวทั้ง 2 กลุ่ม จะก่อการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาการ ก่อการอักเสบ และก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (โรคแผลเปบติค/โรคแผลในกระเพาะอาหาร)
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สูบบุหรี่,  ดื่มเครื่องดื่ม คาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคลา เครื่องดื่มชูกำลัง,  มักทำให้อาการรุนแรงขึ้น จากก่อการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร, และกระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อเมือกสร้างกรดเพิ่มขึ้น
  • กระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร (โรคติดเชื้อเอชไพโลไร)
  • โรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน)ต่อกระเพาะอาหาร
  • โรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดต่อกระเพาะอาหาร เช่น โรคไวรัสลงกระเพาะ  
  • โรคเชื้อราบางชนิด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น จากติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์
  • โรคจากน้ำดีตับซึ่งปกติจะอยู่เฉพาะในลำไส้เล็ก ท้นเข้าสู่กระเพาะอาหาร, น้ำดีจึงก่อการระคายเคืองและการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร
  • ความเครียด: เพราะจะกระตุ้นให้เซลล์กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรดจะก่อการระคายเคือง และก่อการอักเสบต่อเซลล์เนื้อเยื่อเมือกบุ กระเพาะอาหาร 
  • อุบัติเหตุร้ายแรงที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดสูง ซึ่งส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดสูงขึ้นมากเฉียบพลัน เช่น อุบัติเหตุต่อสมอง หรือหลังการผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าตัดสมอง หรือช่องท้อง จึงเกิดกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลันรุนแรง หรือแผลในกระเพาะอาหารชนิดที่เรียกว่า Stress ulcer ที่อาจทำให้เกิด เลือดออกในทางเดินอาหาร/ในกระเพาะอาหาร/อาเจียนเป็นเลือด
  • ดื่มกรด หรือ ด่าง ซึ่งทั้งกรด และด่างจะก่อให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง

โรคกระเพาะอาหารอักเสบมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยบางคนเมื่อมีโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยเฉพาะแบบเรื้อรัง อาจไม่มีอาการ แต่เมื่อมีอาการ อาการที่พบได้ของโรคกระเพาะอาหารอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังจะคล้ายกัน, จะคล้ายกับอาการจากโรคแผลเปบติค ที่พบบ่อย เช่น

  • ปวดท้องตำแหน่งกระเพาะอาหาร (ใต้ลิ้นปี่) เป็นๆ หายๆ
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ  เรอบ่อย  แน่นท้อง/แน่นอึดอัดท้องทั้งๆที่ไม่ได้กินอะไร หรือกินเพียงเล็กน้อย (ธาตุพิการ/อาหารไม่ย่อย)
  • คลื่นไส้อาเจียน เมื่อเป็นมาก อาจอาเจียนเป็นเลือดได้
  • เบื่ออาหาร และอาจผอมลง
  • เมื่อเป็นมาก และมีเลือดออกจากเนื้อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร จะมีถ่ายอุจจาระเป็นสีดำและเหนียว ลักษณะอุจจาระเหมือนยางมะตอย

แพทย์วินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม พฤติกรรมการกิน  กินยาต่างๆ,  ความเครียดในชีวิตประจำวัน/ครอบครัว  
  • การตรวจร่างกาย
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากส่วนที่มีการอักเสบเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ, การรักษาประคับประคองตามอาการ, และการปรับพฤติกรรมการบริโภค

  • รักษาตามสาเหตุ: เช่น ให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร, การปรับเปลี่ยนชนิดยาแก้ปวดต่างๆเมื่อโรคเกิดจากยาในกลุ่มเอ็นเสด เป็นต้น
  • รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดกรด, ยาเคลือบกระเพาะอาหาร, ยาช่วยย่อย, ยาแก้ปวดท้อง   
  •  ปรับพฤติกรรมการบริโภค: ทั่วไป คือ  
  • เลิก/จำกัด สุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิก/จำกัดบุหรี่  
  • เลิก/จำกัดเครื่องดื่มมีคาเฟอีน
  • กินอาหารเป็นเวลา/ตรงเวลา
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
  • ระยะแรกของอาการอาจต้องบริโภคอาหารอ่อน(ประเภทอาหารทางการแพทย์)

มีผลข้างเคียงจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบไหม?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เช่น

  • เมื่อโรครุนแรง อาจมีเลือดออกจากเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร ส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด หรือ อุจจาระดำเหมือนยางมะตอย   
  • เมื่อรักษาควบคุมสาเหตุไม่ได้ ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง เช่น 
    • แผลในกระเพาะอาหาร (โรคแผลเปบติค)
    • โลหิตจางจากขาดวิตามินบี
    • เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหารอักเสบรุนแรงไหม?

ทั่วไปกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคไม่รุนแรง แพทย์รักษาได้เสมอ/มีการพยากรณ์โรคที่ดี โดยการใช้ยาและการปรับพฤติกรรมการบริโภค  

แต่เมื่อเกิดผลข้างเคียง อาจเป็นสาเหตุถึงตายได้จากเลือดออกไม่หยุดจากบริเวณมีการอักเสบ, และเมื่อเกิดการอักเสบเรื้อรัง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และ/หรือ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหารได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเมื่อเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และการพบแพทย์ ที่สำคัญ เช่น

  • กินยา/ใช้ยาตามแพทย์แนะนำ ให้ถูกต้อง สม่ำเสมอ
  • สังเกตความสัมพันธ์ของอาการกับอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ, จำกัด หรืองด อาหาร และเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดอาการ หรือที่เพิ่มความรุนแรงของอาการ
  • งด/เลิก บุหรี่, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และจำกัดเครื่องดื่มคาเฟอีน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆซ้ำหลังจากรักษาโรคหายแล้ว
  • ไม่ซื้อยาแก้ปวด (ยกเว้น ยาพาราเซตามอล) หรือ ยาสเตียรอยด์ กินเอง โดยไม่ปรึกษา แพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกร ก่อน
  • รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี
  • รักษาสุขภาพจิต ไม่ก่อให้เกิดความเครียดจนเกินเหตุ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด ทั่วไปเมื่อ
    • อาการต่างๆ แย่ลง เช่น ปวดท้องรุนแรงมากขึ้นทั้งๆที่ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ 
    • อาการผิดปกติไปจากเดิม
    • เมื่อกังวลในอาการ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที เมื่อ
    • อาเจียนเป็นเลือด หรือ
    • อุจจาระมีสีดำเหมือนยางมะตอย

ป้องกันโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันกระเพาะอาหารติดเชื้อต่างๆ
  • รักษาสุขภาพจิต เพื่อลดภาวะการสร้างกรดสูงของกระเพาะอาหาร
  • ไม่ซื้อยาแก้ปวด หรือ ยาสเตียรอยด์ กินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกร
  • งด/เลิก/จำกัด บุหรี่, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และจำกัดเครื่องดื่มคาเฟอีน
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระเพาะอาหารอักเสบ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001).  Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. https://emedicine.medscape.com/article/175909-overview#showall   [2023,April8]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/176156-overview#showall   [2023,April8]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK544250/  [2023,April8]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Gastritis [2023,April8]