กระดูกสันหลังคด (ตอนที่ 2)

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) เป็นลักษณะของกระดูกสันหลังที่มีความโค้งผิดปกติ ตามธรรมชาติทุกคนมีกระดูกสันหลังโค้งเล็กน้อย แต่สำหรับคนที่มีกระดูกสันหลังคดจะมีความโค้งที่ผิดรูปมากกว่า (ตั้งแต่ 10 องศาขึ้นไป)

ในสหรัฐอเมริกามีชาวอเมริกันประมาณร้อยละ 2-3 หรือประมาณ 5-9 ล้านคน ที่มีกระดูกสันหลังคด โดยร้อยละ 85 จะเกิดในเด็กและวัยรุ่น

ร้อยละ 65 ของกระดูกสันหลังคด เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic scoliosis) และมีการจัดกลุ่มตามอายุดังนี้

  • ในเด็กอายุ 3 ขวบและต่ำกว่า เรียกว่า Infantile scoliosis
  • ในเด็กอายุ 4 – 10 ปี เรียกว่า Juvenile scoliosis
  • ในเด็กอายุ 11 – 18 ปี เรียกว่า Adolescent scoliosis

สำหรับกระดูกสันหลังคดชนิดอื่น ได้แก่

  • กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital scoliosis) เป็นลักษณะที่กระดูกผิดรูปมาตั้งแต่เกิด มีประมาณร้อยละ 15 ซึ่งเกิดจากการสร้างหรือการแตกตัวของกระดูกสันหลังที่ผิดรูประหว่างสัปดาห์ที่ 3-6 ของการตั้งครรภ์
  • กระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อระบบประสาท (Neuromuscular scoliosis) มีประมาณร้อยละ 10 เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหลังไม่สมดุล อาจเกิดจากโรคสมองพิการ (Cerebral palsy) โรคกล้ามเนื้อลีบ (Muscular dystrophy) กระดูกสันหลังโหว่ (Spina bifida) และโรคโปลิโอ (Polio) กระดูกสันหลังคดชนิดนี้พบเมื่อโตเป็นวัยรุ่นและมักตรวจพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่ได้แก่

    • อายุ - มักเริ่มเป็นตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 9-15 ปี
    • เพศ – ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย และต้องรับการรักษาเพราะอาการมักแย่กว่า
    • ประวัติครอบครัว –กระดูกสันหลังคดอาจเกิดจากพันธุกรรมได้ แต่ก็มีหลายกรณีเช่นกันที่เด็กไม่มีประวัติครอบครัว

    กรณีกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่ไม่รุนแรงนัก แต่สำหรับเด็กบางคนกระดูกสันหลังที่เจริญเติบโตผิดปกติจะทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อตอนโต ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นพิการได้ โดยเฉพาะกรณีที่กระดูกคดจนทำให้ช่องว่างในหน้าอกแคบลง ทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

    ปกติกระดูกสันหลังคดจะไม่ปรากฏอาการใด แต่ถ้ามีอาการมักจะได้แก่

    • ปวดหลังหรือปวดเอว
    • รู้สึกเมื่อยเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
    • สะโพกหรือไหล่ไม่เท่ากัน (ข้างหนึ่งอาจสูงกว่าอีกข้างหนึ่ง)
    • กระดูกสันหลังโค้งไปด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า

    แหล่งข้อมูล

    1. Scoliosis. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001241.htm [2014, July 4].
    2. Scoliosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Scoliosis [2014, July 4].
    3. Scoliosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scoliosis/basics/definition/con-20030140 [2014, July 4].