กระดูกผุ กระดูกพรุน (ตอนที่ 4)

การรักษาโรคกระดูกพรุนนั้นต้องหยุดการเสื่อมสลายของเซลล์กระดูกและลดความเสี่ยงของกระดูกหัก การรักษามักรวมถึงการรับประทานอาหารและการเลือกใช้ชีวิต (Lifestyle) เช่น :

  • รับประทานอาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี
  • ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight-bearing exercises) เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานต้านแรงโน้มถ่วง
  • หยุดสูบบุหรี่
  • ใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน
  • ฉีดยาเพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แก่ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแตกหัก

เนื่องจากกระดูกพรุนเป็นอะไรที่ยากจะกลับคืนดีได้เหมือนเดิม ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บปวดและทำให้กระดูกผิดรูปร่าง การป้องกันการเป็นโรคกระดูกพรุนสามารถทำได้หลายทาง

การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเป็นการป้องกันและการรักษาโรคกระดูกพรุน เราไม่สามารถเปลี่ยน แปลงเพศ อายุ หรือประวัติครอบครัวของเราได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยในการออกกำลังกายได้

การออกกำลังกายทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวและงอได้ ถ้าหากกระดูกหัก การออกกำลังกายอาจช่วยให้ระยะเวลาในการฟื้นฟูร่างกายสั้นลงและลดอาการปวดลงได้ การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายเกิดความสมดุลและยืดหยุ่นได้ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มได้

ควรหาโปรแกรมออกกำลังกายที่ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ลดการสูญเสียลง การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight-bearing exercises) เป็นวิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดี ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง (อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที)

การเดิน การวิ่งจ็อกกิ้ง การเล่นเทนนิส การเต้นรำ เป็นการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักที่ดี นอกจากนี้ยังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและอาจช่วยในเรื่องการหกล้ม ลดโอกาสที่กระดูกจะแตกหักลง

อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อกระดูกได้เช่นกัน ฮอร์โมนที่ไม่สมดุลเพราะเกิดจากการออกกำลังกายมากไป อาจเป็นเหตุให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง ซึ่งมักเกิดขึ้นในหมู่นักกีฬาหญิง ดังนั้นควรออกกำลังกายให้พอดีและต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุน

[นอกจากนี้ ในกรณีของนักกีฬาหญิงยังต้องถูกแรงกดดันในวัย เพื่อรักษาร่างกายให้มีน้ำหนักสมบูรณ์และดูผอมบาง เช่น นักยิมนาสติก นักเต้นรำ นักว่ายน้ำ นักสเก็ต และนักวิ่ง ทำให้ต้องประสบกับปัญหาในการรับประทานอาหารที่ให้แคลอรี่ต่ำ

การฝึกซ้อมที่ต้องออกกำลังกายมาก ทำให้มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ และนักกีฬาหญิงมักมีภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) มากกว่าผู้หญิงปกติทั่วไป การขาดประจำเดือนจะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของกระดูกบาง]

แหล่งข้อมูล:

  1. Osteopenia: Early Signs of Bone Loss. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/osteopenia-early-signs-of-bone-loss [2012, December 22].
  2. What Is Osteoporosis? What You Need to Know. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/what-is-osteoporosis-osteopenia [2012, December 22].
  3. Osteoporosis: Keeping Bones Strong. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/osteoporosis-keeping-bones-strong [2012, December 22].