กระดูกผุ กระดูกพรุน (ตอนที่ 2)

ความหนาแน่นของกระดูกเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง โดยร้อยละ 75 มาจากสิ่งที่ได้แต่กำเนิด เช่น เพศ เชื้อชาติ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 25 มาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร และการออกกำลังกาย ในหนุ่มสาวที่แข็งแรง การสลายของกระดูกจะมีความสมดุลกับการสร้างกระดูก ดังนั้นกระดูกที่แข็งแรงสมบูรณ์ จึงเป็นกระดูกที่มีกระบวนการที่มีการสลายกระดูก และการสร้างกระดูกที่เกิดขึ้นอย่างสมดุลกันนั่นเอง

ส่วนในวัยหมดประจำเดือน หรือเมื่อเกิดพยาธิสภาพบางประการ กระบวนการเหล่านี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการสลายกระดูกเกิดขึ้นมากกว่า ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก ส่งผลให้กระดูกกร่อน เปราะหักง่าย เป็นที่รู้จักกันดีว่ามี “ภาวะกระดูกพรุน” (Osteoporosis)

เราควรรู้จักปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน เพราะเราจะสามารถลดโอกาสในการเป็นโรคกระดูกพรุนได้ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงรวมถึง

  • ประวัติครอบครัว : ดูเหมือนว่าโรคกระดูกพรุนจะเป็นโรคกรรมพันธุ์ หากแม่มีอาการหักที่กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลัง ลูกก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาเช่นนั้นเหมือนกัน
  • เพศ : ผู้ชายก็เป็นโรคกระดูกพรุนได้ แต่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า
  • อายุ : ทุกวัยมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้หมด แต่ความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนจะสูงขึ้นตามอายุ ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากที่สุด
  • เชื้อชาติ : มีงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้หญิงผิวขาว (Caucasian) และผู้หญิงเอเชีย มักเป็นโรคกระดูกพรุน และมีรายงานว่าโอกาสที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้หญิงผิวขาวมีมากกว่าในผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน (African-American women) ถึง 2 เท่า อย่างไรก็ดีหากเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้หญิงที่มีสีผิว [ดำ]แล้ว จะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่า
  • โครงสร้างของกระดูกและน้ำหนักตัว : ผู้หญิงผอมบางร่างเล็กมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่า และผู้หญิงที่น้ำหนักตัวลดลงหลังอายุ 50 ปี มีความเสี่ยงที่กระดูกสะโพกจะหักมากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงที่มีน้ำหนักมากขึ้นมีความเสี่ยงน้อยลง ส่วนผู้ชายที่มีโครงกระดูกเล็กจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายที่มีโครงกระดูกใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่า
  • ประวัติกระดูกหัก : หากเคยกระดูกหักก็เพิ่มโอกาสของการกระดูกหักขึ้นอีก
  • การสูบบุหรี่ : คนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงของกระดูกหักมากกว่า เพราะคนสูบบุหรี่จะมีความหนาแน่นของกระดูกที่น้อยกว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่น้อยกว่า มีวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ที่เร็วกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ : การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียกระดูก
  • การใช้ยา : ยาบางประเภทเพิ่มโอกาสของการเป็นโรคกระดูกพรุน เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ (Prednisone) ยารักษาไทรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ (Anticonvulsants) ยาลดกรด (Antacids) และยาอื่นๆ เป็นระยะเวลานาน

แหล่งข้อมูล:

  1. Peak Bone Mass. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/peak-bone-mass [2012, December 20].
  2. What Is Osteoporosis? What You Need to Know. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/what-is-osteoporosis-osteopenia [2012, December 20].
  3. Osteoporosis: Are You at Risk. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/osteoporosis-risk-factors [2012, December 20].
  4. Understanding Osteoporosis – Prevention. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/osteoporosis-prevention [2012, December 20].