กระดูกผุ กระดูกพรุน (ตอนที่ 1)

สถิติขององค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคกระดูกพรุนกลายเป็นปัญหาสำคัญที่รองลงมาจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด แม้โรคกระดูกพรุนจะไม่ได้ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ ตามมาโดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่กระดูกจะหักได้ง่ายมาก

ศาตราจารย์นายแพทย์นิมิต เตชไกรชนะ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ของประเทศไทย เพราะประชากรไทยมีอายุยืนขึ้น วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้น ทำให้คนสมัยนี้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น

โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบ เป็นโดยไม่รู้ตัว ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เพราะวัยหมดประจำเดือนขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จะทำให้กระดูกกร่อนหรือสลายเร็วขึ้น การป้องกันตั้งแต่เด็กจึงเป็นคำตอบทำให้ห่างไกลโรคนี้ได้ดีที่สุด

ศาสตราจารย์นายแพทย์นิมิต เตชไกรชนะ กล่าวอีกว่า ถ้ามีกระดูกพรุนเกิดขึ้น กระดูกจะหักง่าย หากกระดูกสะโพกหักจะพบว่าผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 5 จะเสียชีวิตในปีแรก เพราะตัวภาวะแทรกซ้อนของโรคเอง ผลจากการผ่าตัด ภาวะทุพพลภาพ ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกระดูกสันหลังหัก จะทำให้หลังโค้งค่อม ทรวงอกจะแคบลง เวลาหายใจจะระบายอากาศไม่ได้ดี หากเป็นหวัดก็จะเป็นปอดบวมได้ง่าย ท้องแคบลง เล็กลง ซึ่งจะทำให้ท้องผูก ท้องอึดได้ง่าย

วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนมากที่สุด คือ ทานอาหารที่มีแคลเซียม ออกกำลังกาย รับแสงแดดที่พอเพียง ส่วนการให้ยาจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย เนื่องจากยามีราคาแพงและมีผลข้างเคียง (Side effect) สูง

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้กระดูกเปราะบาง ไม่แข็งแรง และแตกหรือหักได้ง่าย ภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเป็นโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนเกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย เป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการปรากฏให้เห็น แต่เราอาจสังเกตได้จากการที่ส่วนสูงลดลงหรือหลังค่อมขึ้น

กระดูกจะค่อยๆ สลายตัวเมื่ออายุมากขึ้นๆ และร้ายแรงถึงระดับที่การนั่ง การยืน การไอ หรือแม้แต่การกอดคนที่เรารัก ก็อาจทำให้กระดูกหักเคลื่อนไหวไม่ได้ และเมื่อมีการหักครั้งแรกแล้ว ความเสี่ยงที่จะหักอีกก็มากขึ้น ทำให้เกิดการปวดเรื้อรัง กลายเป็นคนทุพพลภาพ ช่วยตัวเองไม่ได้

เรายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเป็นโรคกระดูกพรุน รู้เพียงแต่ว่า โรคนี้จะค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ตามอายุ แม้ว่ากระดูกจะหยุดเจริญเติบโตในวัยผู้ใหญ่ แต่เซลล์กระดูกยังคงมีการสลายและสร้างอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกว่า “Bone remodeling” โดยจะเริ่มจากการสลายก่อนแล้วจึงสร้างขึ้นใหม่เสมอ

กล่าวคือ กระดูกจะมีกระบวนการเผาผลาญตลอดเวลา กระดูกที่แข็งแรงจะมีวงจรเช่นนี้ไปในทิศทางเดียวอย่างเป็นลำดับ ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนและปัจจัยต่างๆ ที่เริ่มต้นด้วยการทำลายและการสลายส่วนที่เป็นกระดูกเก่า แล้วตามด้วยการสร้างกระดูกใหม่เสมอ

ช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นการเกิดของเซลล์ใหม่มีมากกว่าการสลายของเซลล์เก่า จึงทำให้กระดูกเจริญเติบโตทั้งในแง่ของขนาดและความหนาแน่น เกือบร้อยละ 90 ของความหนาแน่นของกระดูกจะเจริญเติบโตสูงสุดเมื่ออายุ 18 ปี ในผู้หญิง และอายุ 20 ปี ในผู้ชาย

แหล่งข้อมูล:

  1. [ข่าวเที่ยงช่อง 5] โรคกระดูกพรุน http://www.youtube.com/watch?v=uQECc9IlxLE [2012, December 19].
  2. What Is Osteoporosis? What You Need to Know. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/what-is-osteoporosis-osteopenia [2012, December 19].