กระจ่างขึ้นด้วยเครื่องช่วยวินิจฉัย (ตอนที่ 8 และตอนจบ)

กระจ่างขึ้นด้วยเครื่องช่วยวินิจฉัย

เพ็ทซีทีสแกน (PET/CT scan) เป็นการรวมเอาการตรวจเพ็ทสแกนและการตรวจซีทีสแกนมาไว้ในเครื่องเดียวกัน เพื่อให้ข้อมูลที่สำคัญที่มีผลกระทบต่ออวัยวะของร่างกาย ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

เนื่องจากเพ็ทสแกนบอกถึงความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ภาพเนื้อเยื่อที่ตรวจได้จากเพ็ทสแกน จะมีลักษณะลอยๆ อยู่ ขาดจุดอ้างอิงทางกายภาพ (Anatomical landmark) ทำให้แพทย์ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งของรอยโรคที่เกิดได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงได้มีการนำซีทีสแกน ซึ่งเป็นเครื่องตรวจที่ให้ภาพของเนื้อเยื่ออวัยวะในร่างกายได้ชัดเจน เข้ามารวมไว้เป็นเครื่องมือชิ้นเดียวกันเรียกว่า “PET-CT Scan”

โดยเครื่องนี้จะนำภาพทั้ง 2 ชุด คือจากทั้ง PET scan และ จาก CT scan มารวมไว้ในภาพเดียวกันได้ ทำให้แพทย์สามารถกำหนดตำแหน่งที่เกิดโรคได้แม่นยำกว่าการตรวจเพทสแกนอย่างเดียวมาก

เครื่องเพ็ทซีทีสแกนมีลักษณะคล้ายโดนัทขนาดใหญ่ ผู้รับการตรวจจะนอนบนเตียงที่เลื่อนไปมาในช่องกลางของเครื่องในขณะที่ตัวสแกนจะเคลื่อนไปรอบๆ ตัว

ในการสแกนครั้งแรกเตียงที่นอนจะเคลื่อนที่เร็วมากเพื่อตรวจสอบว่าผู้รับการตรวจนอนอยู่ในท่าที่เหมาะสม หลังจากนั้นเตียงจะเคลื่อนที่ช้าลงเพื่อทำการสแกน โดยเริ่มด้วยซีทีสแกนก่อนแล้วจึงต่อด้วยเพ็ทสแกน

การตรวจด้วยเพ็ทซีทีสแกนจะไม่เจ็บปวดอะไร แต่ผู้รับการตรวจต้องนอนนิ่งๆ อาจจะต้องยกแขนไว้ข้างศีรษะ หรือกลั้นหายใจระหว่างสแกน (เพราะการหายใจสามารถทำให้ภาพไม่ชัดได้) โดยเตียงอาจถูกยกขึ้นลงเพื่อให้ได้มุมสำหรับการสแกน

เช่นเดียวกันก่อนการตรวจเพ็ทซีทีสแกน แพทย์จะให้งดอาหารเป็นเวลา 6 ชั่วโมง แต่สามารถดื่มน้ำได้ บางคนอาจต้องให้ยากล่อมประสาท (Diazepam) เพื่อคลายกล้ามเนื้อรอบคอและบ่า เพื่อให้ได้ภาพวินิจฉัยที่ชัดเจนขี้น

หลังการฉีดสารกัมมันตรังสีตามรอยและตัวยาซึมเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาในการสแกนประมาณ 30-90 นาที โดยขึ้นกับบริเวณที่ต้องการตรวจ

เหมือนกับการตรวจด้วยเครื่องทั้ง 2 อย่าง เครื่องเพ็ทซีทีสแกนเครื่องเดียวจะใช้ในการตรวจหามะเร็งและสามารถบอกได้ว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด ทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาได้ถูกจุดและประเมินสถานการณ์ได้

ทั้งนี้ หญิงมีครรภ์ไม่ควรตรวจด้วยเพ็ทซีทีสแกน หรือหากจำเป็นต้องตรวจก็อาจจะต้องลดปริมาณรังสีที่ใช้ลง

หลังการตรวจควรดื่มน้ำให้มากเพื่อขับสารทึบรังสีออกจากร่างกาย และตลอดวันนั้นควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับเด็กเพื่อไม่ให้เด็กได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น

แหล่งข้อมูล

  1. PET/CT scan. http://www.royalmarsden.nhs.uk/cancer-information/detection-diagnosis/pages/pet-ct-scan.aspx [2015, August 5].
  2. Integrated PET-CT Scan. http://www.cancer.net/navigating-cancer-care/diagnosing-cancer/tests-and-procedures/integrated-pet-ct-scan [2015, August 5].