กระจ่างขึ้นด้วยเครื่องช่วยวินิจฉัย (ตอนที่ 6)

กระจ่างขึ้นด้วยเครื่องช่วยวินิจฉัย

ข้อจำกัดของเอ็มอาร์ไอ

  • เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่เที่ยงตรง ผู้รับการตรวจจะต้องนอนนิ่งและหายใจตามคำสั่ง หากผู้รับการตรวจตื่นเต้น หรือมีอาการเจ็บปวดมาก อาจเป็นอุปสรรคต่อการนอนนิ่งๆ ระหว่างการตรวจ
  • แม้ว่าสนามแม่เหล็กจะไม่เป็นอันตราย แต่อวัยวะโลหะที่ฝังอยู่ในร่างกายผู้รับการตรวจอาจเสียหายหรือทำให้เกิดปัญหาระหว่างการตรวจ
  • การหายใจอาจเป็นตัวแปร (Artifacts) ทำให้ภาพที่ได้บิดเบือนไประหว่างการตรวจช่วงอก ช่วงท้อง นอกจากนี้การเคลื่อนไหวภายในท้อง (Bowel motion) ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน
  • หญิงมีครรภ์ไม่ควรเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

ซีทีสแกน ((computerised tomography = CT) เป็นการตรวจหาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยลำแสงเอกซ์ โดยฉายลำแสงเอกซ์ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจในแนวตัดขวาง สร้างเป็นภาพ 3 มิติของร่างกาย คอมพิวเตอร์จะประมวลภาพนี้เพื่อแสดงความผิดปกติหรือแสดงก้อนเนื้อ (Tumor)

นอกจากนี้ยังสามารถซอยภาพอวัยวะออกเป็นแผ่นบางๆ ในภาพตัดขวางได้หลายสิบแผ่น (Slices) จึงช่วยให้แพทย์สามารถอ่านความผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ ได้ละเอียดและแม่นยำกว่า ซึ่งบางครั้งจะมีการให้สารทึบรังสีเข้าทางเส้นเลือดเพื่อให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

ผู้รับการตรวจซีทีสแกนจะนอนบนเตียงที่ค่อยเลื่อนเข้าไปยังตัวสแกน (Scanner) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายโดนัทขนาดใหญ่ โดยรังสีเอ็กซเรย์จะถูกปล่อยออกมารอบๆ ตัว ผู้รับการตรวจจะต้องนอนนิ่งเพราะการขยับตัวจะทำให้ภาพที่ได้ไม่ชัดเจน สำหรับการตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนรุ่นใหม่สามารถใช้เวลาตรวจได้น้อยกว่า 30 นาที

แพทย์มักแนะนำให้ตรวจด้วยซีทีสแกนเพื่อช่วย

  • วินิจฉัยความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น มีก้อนเนื้อ หรือแตกหัก
  • ใช้ชี้จุดที่มีก้อนเนื้อ มีการติดเชื้อ หรือมีลิ่มเลือด (Blood clot)
  • ใช้เป็นตัวนำในการผ่าตัด (Guide procedures) ตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) และการรักษาด้วยรังสี
  • ใช้ตรวจดูโรค เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ก้อนในปอด (Lung nodule) และก้อนในตับ (Liver masses)
  • ตรวจดูการบาดเจ็บภายใน (Internal injuries) และเลือดออกภายในร่างกาย (Internal bleeding)

ความเสี่ยงของซีทีสแกน

  • บางคนอาจมีอาการแพ้สารทึบรังสี เช่น คลื่นไส้หรืออาเจียน จาม คัน เป็นลมพิษ
  • เนื่องจากการตรวจด้วยซีทีสแกนจะใช้รังสีมากกว่าการเอ็กซเรย์ตามปกติ ดังนั้นการทำซีทีสแกนบ่อยๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้

แหล่งข้อมูล

  1. Magnetic Resonance Imaging (MRI) - Body. http://www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=bodymr [2015, August 2].
  2. CT scan. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003330.htm [2015, August 3].
  3. CT scan. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/ct-scan/basics/definition/prc-20014610 [2015, August 3].