กระจ่างขึ้นด้วยเครื่องช่วยวินิจฉัย (ตอนที่ 2)

กระจ่างขึ้นด้วยเครื่องช่วยวินิจฉัย

ทั้งนี้ ปริมาณรังสีเอ็กซเรย์ที่ใช้กับแต่ละคนขึ้นกับอวัยวะที่ต้องการตรวจดู อายุ (เด็กจะไวต่อรังสีมากกว่าผู้ใหญ่) สำหรับกรณีหญิงตั้งครรภ์นั้น แม้ว่าการเอ็กซเรย์จะมีผลต่อทารกน้อย แต่แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้วิธีอื่นแทน เช่น อัลตราซาวด์

บางคนอาจมีปัญหากับสารทึบรังสีจนทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น หน้าแดง (Flushing) รับรู้รสโลหะ (Metallic taste) มีอาการมึนงง หน้ามืด จะเป็นลม (Lightheadedness) คลื่นไส้ คัน และเป็นลมพิษ (Hives) ส่วนกรณีร้ายแรงที่ไม่ค่อยพบ อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง แพ้แบบรุนแรง (Anaphylactic shock) หัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest)

อัลตราซาวด์ (Ultrasound sonography) เป็นการบันทึกภาพในร่างกายด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง โดยส่วนใหญ่การตรวจสอบอัลตราซาวด์จะทำด้วยอุปกรณ์ที่อยู่นอกร่างกาย แต่ก็มีบางกรณีที่มีการใส่อุปกรณ์ไว้ภายในร่างกายด้วย

อัลตราซาวด์ใช้ในหลายกรณี เช่น

  • ตรวจมดลูก (Uterus) และรังไข่ (Ovaries) ของหญิงมีครรภ์เพื่อประเมินทารกในครรภ์ (Fetus)
  • วินิจฉัยโรคถุงน้ำดี (Gallbladder disease)
  • ใช้เป็นตัวนำทางเข็มในการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ (Biopsy)
  • ประเมินก้อนเนื้อที่หน้าอก (Breast lump)
  • ตรวจต่อมไทรอยด์
  • วินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด
  • ตรวจความผิดปกติของอวัยวะเพศ (Genital) และต่อมลูกหมาก (Prostate)

อัลตราซาวด์เป็นขั้นตอนที่ปลอดภัยเพราะใช้คลื่นเสียงพลังงานต่ำ แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะเสียงไม่สามารถผ่านได้ดีในอากาศหรือกระดูก ดังนั้นจึงอาจใช้ไม่ได้ผลดีกับกรณีที่เป็นการถ่ายภาพอวัยวะที่มีอากาศอยู่ข้างใน หรือถูกบังโดยกระดูก ซึ่งอาจใช้วิธีอื่นแทน เช่น ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ หรือเอ็กซเรย์

การทำอัลตราซาวด์ส่วนใหญ่ไม่ต้องมีการเตรียมตัวนัก ยกเว้นกรณีที่เป็นการตรวจถุงน้ำดี แพทย์อาจให้งดน้ำหรืออาหารก่อนตรวจ 6 ชั่วโมง หรือกรณีของการตรวจทารกในครรภ์และมดลูก เพื่อให้จับภาพได้ง่ายขึ้น แพทย์อาจต้องการให้กระเพาะปัสสาวะ (Bladder) มีน้ำเต็ม จึงให้ดื่มน้ำ 6 แก้ว ก่อนตรวจ 2 ชั่วโมง และห้ามถ่ายปัสสาวะจนกว่าจะตรวจเสร็จ

การตรวจอัลตราซาวด์ทำโดยการทาเจลที่ผิวหนังบริเวณที่ต้องการตรวจเพื่อไม่ให้เกิดหลุมอากาศ (Air pockets) ที่อาจกั้นคลื่นเสียงระหว่างตรวจ แพทย์จะใช้เครื่องมือขนาดเล็กประมาณก้อนสบู่ที่เรียกว่า Transducer เป็นตัวแปรสัญญาณขณะที่เคลื่อนไปมาบนบริเวณที่ต้องการตรวจ

Transducer จะส่งคลื่นเสียงเข้าไปในร่างกายและเก็บคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแปลงเป็นภาพ

แหล่งข้อมูล

  1. X-ray. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/x-ray/basics/definition/prc-20009519 [2015, July 30].
  2. Ultrasound. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/ultrasound/basics/definition/prc-20020341 [2015, July 30].