กรดเบนโซอิก (Benzoic acid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) คือ ยาช่วยรักษาโรคเชื้อราผิวหนัง เช่น น้ำกัดเท้า และยังใช้เป็นสารกันเสีย/สารกันบูด อีกด้วย

ยากรดเบนโซอิก (Benzoic acid) เป็นสารอินทรีย์เคมีที่มีลักษณะเป็นผลึกแข็ง ไม่มีสี มีแหล่งกำเนิดจากกระบวนการชีวะสังเคราะห์จากต้นพืชหลายชนิด กรดเบนโซอิกถูกค้นพบครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 โดยประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากการนำกรดนี้ไปใช้คือ

  • ใช้เป็นส่วนประกอบของยาขี้ผึ้งสำหรับทาฆ่าเชื้อราหรือที่เรียกว่า Whitfield’s ointment ในประเทศไทยเรายังพบสูตรตำรับยาต้านเชื้อราที่มีองค์ประกอบของกรดเบนโซอิกในรูปแบบของโลชั่นอีกด้วย
  • ทั้งยากรดเบนโซอิกกับยาโซเดียมเบนโซเอท (Sodium benzoate, เกลือที่เป็นผลผลิตจากกรด เบนโซอิก) ใช้เป็นสารกันบูด ช่วยในการถนอมอาหารและเครื่องสำอาง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร) โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราประเภทยีสต์ (Yeast) และประเภทโมลด์ (Mould) รวมถึงแบคทีเรียบางกลุ่ม
  • ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต Benzoyl chloride เพื่อนำไปใช้ในการทำกลิ่นชนิดสังเคราะห์และสารไล่แมลง

กระบวนการผลิตยากรดเบนโซอิกถูกเรียกว่า Recrystallisation โดยจะมีการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจนได้ผลึกของยากรดเบนโซอิกที่บริสุทธิ์มากขึ้น กรดเบนโซอิกที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบทาง อุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอาง จะมีความแตกต่างกันออกไปอาทิ ความบริสุทธิ์ เปอร์เซ็นต์การปนเปื้อน ลักษณะของกายภาพ เช่น สี รวมถึงจุดเดือด จุดหลอมเหลวของผงผลึก เป็นต้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทก็จะมีปริมาณหรือเปอร์เซ็นต์ของ ยากรดเบนโซอิกที่แตกต่างกันออกไป

ในทางคลินิก การเลือกสูตรตำรับของยากรดเบนโซอิกที่จะนำมาใช้รักษาโรค ควรต้องเป็นหน้า ที่ของแพทย์เท่านั้น

กรดเบนโซอิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

กรดเบนโซอิก

ยากรดเบนโซอิกมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้รักษาโรคเชื้อราผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า, โรคกลาก
  • ใช้เป็นสารกันบูด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร) ในอาหาร และ เครื่องสำอาง

กรดเบนโซอิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดเบนโซอิกคือ ตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตการลุกลามของโรคเชื้อรา โดยรบกวนกระบวนการทางชีวภาพของเชื้อราจนเสียสมดุลของการดำรงชีวิตและตายลงในที่สุด

กรดเบนโซอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากรดเบนโซอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาขี้ผึ้งที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Salicylic acid 3% + Benzoic acid 6%, Benzoic acid 6% + Salicylic acid 4% + Zinc oxide 10%
  • โลชั่นที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Salicylic acid 3.5% + Benzoic acid 6.5%

กรดเบนโซอิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยากรดเบนโซอิกมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เป็นยาใช้ภายนอกในการรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายาวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น หรือตามคำสั่งแพทย์ หากใช้ยาไปแล้ว 7 วัน อา การยังไม่ดีขึ้น ควรต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์ประเมินปรับแนวทางการรักษาใหม่
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดเบนโซอิก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้อะไรอยู่ เพราะยากรดเบนโซอิกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายากรดเบนโซอิกสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

กรดเบนโซอิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากรดเบนโซอิกในรูปแบบของยาทาแก้โรคเชื้อรา อาจมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจทำให้มีอาการแสบ คัน ในบริเวณที่ทายา
  • หากรับประทานอาหารที่มีกรดเบนโซอิกเข้มข้นมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองตา ปอดและผิวหนังรวมถึงกระเพาะอาหาร – ลำไส้, อีกทั้งยังทำให้เกิดกรดฮิปปูริก (Hippuric acid) ในปัสสาวะสูงขึ้น ส่งผลเพิ่มสารเคมีในธรรมชาติจากการกำจัดปัสสาวะ ซึ่งสารนี้ในปริมาณมากอาจเกิดพิษต่อประสาทตาและ/หรือต่อสมองได้

มีข้อควรระวังการใช้กรดเบนโซอิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากรดเบนโซอิก เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทาน
  • ห้ามใช้กับ ตา จมูก ปากทวารหนัก อวัยวะเพศ หรือบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิด
  • ห้ามใช้ผ้าพันแผลปิดทับบริเวณที่ทายา
  • การใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ล้างมือก่อนและหลังใช้ยานี้ทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดเบนโซอิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กรดเบนโซอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยากรดเบนโซอิกเป็นยาที่ใช้ทาผิวภายนอก/ยาใช้ภายนอก จึงไม่ค่อยพบการเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษากรดเบนโซอิกอย่างไร?

ควรเก็บยากรดเบนโซอิก: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กรดเบนโซอิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดเบนโซอิก มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Benzo Ointment (เบนโซ ออยเมนท์) Greater Pharma
Skin soln Srichand (สกิน โซลูชั่น ศรีจันทร์) Srichand

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Benzoic_acid [2021,Oct9]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=benzoic%20acid [2021,Oct9]
  3. https://study.com/academy/lesson/benzoic-acid-structure-formula-uses.html [2021,Oct9]
  4. http://www.foodchem.cn/pdf/en/benzoic-acid.pdf [2021,Oct9]
  5. https://www.newworldencyclopedia.org/entry/Benzoic_acid#Food_preservative [2021,Oct9]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Whitfield%27s_ointment[2021,Oct9]
  7. https://go.drugbank.com/drugs/DB03793[2021,Oct9]
  8. https://www.drugs.com/mtm/whitfields-ointment-topical.html[2021,Oct9]
  9. https://www.everydayhealth.com/drugs/whitfields-ointment [2021,Oct9]
  10. https://caloriebee.com/nutrition/Effects-of-Benzoic-Acid-and-Benzoates-in-Food-and-Medicines[2021,Oct9]