กฎหมายฐานข้อมูล ศูนย์ป้องกันยาเสพติด (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

เชอร์รี่ กรีน ประธานกรรมการบริหาร ของสหพันธ์แห่งชาติสำหรับกฎหมายยาในรัฐต้นแบบ (National Alliance for Model State Drug Laws) สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า แม้มีการผ่านกฎหมายแล้วในหลายรัฐ และบรรดารัฐต่างๆ ก็แบ่งปันข้อมูลกันเอง แต่ก็ยังไม่มีฐานข้อมูล (Database) ระดับชาติ

มีหลักฐานว่า การใช้ฐานข้อมูลนี้ทำให้ปริมาณการสั่งจ่ายยาที่อาจทำให้เกิดการเสพติด เช่น ยาโอพิออยด์ (Opioid) ออกซิคอนติน (Oxycontin) ไวโคดิน (Vicodin) และเมธาโดน (Methadone) ลดปริมาณลง [เป็นการยืนยันประสิทธิผลของการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน]

ในขณะเดียวกัน การใช้รายงานผล PMP (Prescription Monitoring Program) ได้ช่วยค้นพบว่า มีผู้ป่วยเก่าแก่รายหนึ่ง รับยาเจือฝิ่น (Opiate) จากแพทย์ผู้หนึ่ง และรับใบสั่งยาเบนโซดิเอเซปพีน (Benzodiazepine) ด้วย เมื่อใช้ยาสองตัวนี้ร่วมกัน อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

หลักฐานการศึกษาวิจัยของหน่วยฉุกเฉินของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Toledo พบว่า แพทย์และเภสัชกรที่ได้พิจารณาข้อมูลการใช้ยาที่สั่งจ่ายของรัฐ ได้เปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการผู้ป่วยถึงร้อยละ 41 โดยที่ร้อยละ 61 ของการสั่งจ่ายยา ได้มียกเลิกการจ่ายโอพิออยด์ หรือหากสั่งจ่ายก็จ่ายในปริมาณที่น้อยลงกว่าแผนเดิม ขณะที่ร้อยละ 39 ได้ตัดสินใจให้ยาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ มีรายงานว่า แพทย์ประจำห้องฉุกเฉินมีความพึงพอใจโครงการเฝ้าระวังการสั่งจ่ายยาตามโครงการ PMP เพราะทำให้แบ่งแยกได้อย่างแม่นยำ ระหว่างผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวดจริงๆ กับผู้ป่วยที่เพียงมีความต้องการยา [เป็นการยืนยันประสิทธิผลของโครงการ PMP]

กรณีคล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ต่างกันที่ประเภทของยาและเทคโนโลยีสำหรับฐานข้อมูล คือยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ซึ่งเป็นกรณีอื้อฉาวตลอดเดือนเมษายน ศกนี้ โดยเริ่มต้นสืบเนื่องจากการที่เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลอุดรธานี ได้ยักยอกทรัพย์ยาแก้หวัด “ซูโดอีเฟดรีน” ตั้งแต่ปี 2553–2555 จำนวน 7.2 ล้านเม็ด มูลค่า 11.3 ล้านบาท [เพื่อไปใช้ผลิตยาเสพติด]

หลังจากนั้นก็มีข่าวทำนองเดียวกันเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลหลายแห่ง จนเป็นที่โจษจันกันทั่ว กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศควบคุมยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ให้เป็นยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมยาดังกล่าว ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อย.ดำเนินการโดยให้สถานพยาบาลทุกแห่งทำแผนและแจ้งประมาณการใช้ยาล่วงหน้ามาที่ อย. และเมื่อมีใบสั่งซื้อไปที่บริษัท จะมีระบบบันทึกการรายงานเพื่อการดำเนินการตรวจสอบ และจัดระบบยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ของประเทศให้ชัดเจน ทั้งจำนวน สูตรตำรับยาที่จะผลิตในอนาคต และการมอบหมายบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการใช้ และสามารถตรวจสอบได้ทันที

แหล่งข้อมูล:

  1. Prescribed Opioids : overdoses Not Uncommon. http://www.webmd.com/pain-management/news/20100119/prescribed-opioids-overdoses-not-uncommon# [2012, June 17]
  2. U.S. states crack down on "doctor shopping". http://www.healthnews.com/en/news/US-states-crack-down-on-doctor-shopping/3NJ7zJvon2KBVFQHiBwZYi/ [2012, June 17]