กฎหมายฐานข้อมูล ศูนย์ป้องกันยาเสพติด (ตอนที่ 2)

ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรค (Center for Disease Control and Prevention : CDC) ในสหรัฐอเมริกา รายงานเมื่อปี พ.ศ. 2554 ว่าปี พ.ศ. 2551 มีคน 15,000 คนตายเพราะการใช้ยาแก้ปวด ที่ต้องสั่งจ่ายระงับความปวด (Prescription painkiller) เกินขนาด ซึ่งเป็นปริมาณกว่า 3 เท่าของตัวเลขปี พ.ศ. 2542

ในขณะเดียวกันสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ในชิคาโก ก็ลงบทความซึ่งรายงานว่า เมื่อมีผู้ป่วยใหม่มาที่คลินิกของ นพ. ฌอน โจนส์ ในรัฐเคนตักกี้ พร่ำบ่นเรื่องความปวดให้คุณหมอฟัง แล้วขอยาบางตัวเป็นการเฉพาะเจาะจง โดยไม่พูดคุยถึงอาการอื่นใดเลย นพ.โจนส์ก็เกิดความสงสัยได้ทัน โดยกล่าวว่า

“สิ่งแรกที่พวกเขาพูด คือเขามีความเจ็บปวดสาหัสและต้องการยาแก้ปวด และจะระบุกับแพทย์เลยว่ายาตัวใดที่ได้ผลดี เช่นระบุเลยว่าต้องการยา Percocet โดยไม่มีการกล่าวถึงอาการ ไม่มีการเล่าว่า 2 อาทิตย์ที่แล้ว เขาเริ่มมีอาการปวดหลัง เป็นต้น” จึงเป็นสัญญาณที่ทำให้แพทย์ผู้นี้เริ่มสนใจตรวจสอบกับฐานข้อมูลของรัฐ (State database)

เหตุผลก็เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมแสวงหาใบสั่งยาจากแพทย์หลายแห่ง (Doctor shopping) หรือไม่ เพราะ ในแต่ละปีมีการใช้ยาแก้ปวดที่ต้องสั่งจ่าย จำนวนมากมาย จนคร่าชีวิตคนมากกว่าโคเคน (Cocaine) และเฮโรอีน (Heroine) รวมกันเสียอีก จึงมีการตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

โดยเฉพาะรัฐเคนตักกี้ จัดเป็น “พื้นที่สีแดง” ที่มีประชากรเกือบ 1,000 คน ได้เสียชีวิตเนื่องจากการใช้ยาแก้ปวดที่ต้องสั่งจ่ายเกินขนาด ในปี 2553 หรือประมาณ 3 คนต่อวัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีรายงานว่าคนที่อายุสูงกว่า 12 ปี เพียง 12 ล้านคน ที่ไม่เคยได้รับการสั่งยาแก้ปวดในช่วงปี พ.ศ. 2553

ฐานข้อมูลของอีก 43 รัฐ ก็เช่นเดียวกับที่รัฐเคนตักกี้ใช้อยู่ กล่าวคือได้รับการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาแรก คือการแจ้งเตือนแพทย์ผู้ออกใบสั่งยา ว่าใครบ้างที่อาจใช้ยาเกินขนาดหรืออาจนำไปทำการค้าที่ผิดกฎหมาย ขณะนี้ ฐานข้อมูลของรัฐต่างๆ ดังกล่าวมีประวัติผู้ที่ได้รับการสั่งยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาความปวดรุนแรง

เภสัชกรที่รับใบสั่งยาเป็นผู้มีหน้าที่เก็บข้อมูลเข้าฐานข้อมูล โดยเฉพาะยาแก้ปวดรุนแรง เช่น ออกซิโคโดน (Oxycodone) ไวโคดิน (Vicodin) และ โอพานา (Opana) เพื่อแพทย์ผู้สั่งยาจะได้เห็นประวัติผู้ป่วยว่าได้รับยาจากหลายแหล่งหรือไม่ สำหรับรัฐอื่นๆ อีก 5 รัฐ ได้ผ่านกฎหมายที่จะเริ่มสร้างฐานข้อมูล แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ

นพ.โจนส์ ซึ่งเป็นประธานสมาคมแพทย์เคนตักกี้ (Kentucky Medical Association) ได้กล่าวว่า “ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ที่แพทย์และเภสัชกรต้องได้รับการศึกษาอบรม เพราะผู้ที่ใช้ยาผิดประเภทก็ได้วิวัฒนาการหลอกลวงผู้ให้การรักษา ซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน”

เขากล่าวว่าเคยได้รับโทรศัพท์จากเภสัชกรคนหนึ่ง ถามถึงใบสั่งยาที่เขาสั่งจ่ายยา จำนวน 90 เม็ด เพราะเภสัชกรรู้ดีว่า นพ.โจนส์มักไม่สั่งจ่ายยาเกินครั้งละ 20 เม็ด ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นใบสั่งจ่ายยาปลอม นพ. โจนส์โทรรายงานตำรวจ และผู้ป่วยรายนั้นก็ถูกจับดำเนินคดีทันที

แหล่งข้อมูล:

  1. Prescribed Opioids : overdoses Not Uncommon. http://www.webmd.com/pain-management/news/20100119/prescribed-opioids-overdoses-not-uncommon# [2012, June 15]
  2. U.S. states crack down on "doctor shopping". http://www.healthnews.com/en/news/US-states-crack-down-on-doctor-shopping/3NJ7zJvon2KBVFQHiBwZYi/ [2012, June 15]