ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) เป็นยาขับปัสสาวะ ที่จัดอยู่ในกลุ่มสารไทอะไซด์ (Thiazide: กลุ่มสารขับปัสสาวะกลุ่มหนึ่ง) หลายสถานพยาบาลอาจเรียกย่อๆว่า ยาเอชซีทีแซด (HCTZ)

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ เป็นยาสำหรับสาธารณสุขขั้นพื้น ฐานในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยจัดยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หมวดยาขับปัสสาวะ และเป็นยาอันตราย

หน้าที่หลักของยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ คือ การยับยั้งหรือชะลอการดูดน้ำกลับเข้าร่าง กายที่กรวยไต ส่งผลให้ปริมาณเลือดในร่างกายลดลง เลือดที่ไหลเวียนเข้าหัวใจเพื่อสูบฉีดไป เลี้ยงร่างกายก็ลดลงเช่นเดียวกัน และยังมีกลไกอื่นอีกที่สนับสนุนเหตุผลข้างต้น เช่นทำให้ความดันโลหิตลดลง

หลังจากรับประทานยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ และยาดูดซึมทางระบบทางเดินอาหารเข้ากระแสเลือด ปริมาณยามากกว่า 95% ไม่ได้ถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ร่างกายใช้เวลาประ มาณ 5.6 - 14.8 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ

การใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ ที่ถูกต้องเหมาะสมปลอดภัยและเป็นผลดีต่อผู้ป่วย ควร ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และไม่ควรไปหาซื้อมารับประทานเอง

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
  • ป้องกันภาวะนิ่วในไต
  • รักษาโรคกระดูกพรุน
  • รักษาภาวะ/โรคเบาจืด

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ จะออกฤทธิ์ที่กรวยไต โดยลดปริมาณเลือดที่จะไหลเวียนเข้าไต อีกทั้งยังลดการดูดกลับของเกลือโซเดียมเข้าสู่ร่างกาย ด้วยกลไกดังกล่าว ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์จึงสามารถลดความดันโลหิตสูงและขับน้ำออกจากร่างกายได้ในที่สุด

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ จัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น

  • ชนิดยาเดี่ยวขนาดความแรง 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด และ
  • จัดจำหน่ายเป็นประเภทยาผสมกับยาอื่น เช่น ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง บางชนิด (แต่มิได้นำมากล่าวอ้างในบทความนี้)

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ในผู้ใหญ่:

  • รักษาความดันโลหิตสูง: เช่น รับประทานเริ่มต้นที่ 12.5 มิลลิกรัม วันละครั้งหลังอาหารเช้า และแพทย์อาจปรับเพิ่มการรับประทานเป็น 25 - 100 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทาน
  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกายในภาวะมีโรคหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย: เช่น รับประทาน 25 -100 มิลลิกรัมต่อวันหลังอาหารเช้า หากอาการดีขึ้น แพทย์อาจปรับลดลงเป็น 25 - 50 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจปรับขนาดในช่วงแรกๆได้สูงสุดถึง 200 มิลลิกรัมต่อวัน
  • รักษาโรคเบาจืดที่มีโรคไตร่วมด้วย: เช่น ขนาดรับประทานเริ่มต้นได้สูงถึง 100 มิลลิกรัมต่อวัน

ข. ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):

  • รักษาโรคเบาจืดที่มีภาวะโรคไตร่วมด้วยในผู้ป่วยเด็ก: เช่น ขนาดรับประทานเริ่มต้น1 - 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันโดยแบ่งรับประทาน และเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี สามารถรับประทานยานี้ได้สูงถึง 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์หลังอาหาร และขนาดรับประทานที่เหมาะโดย เฉพาะในเด็ก สมควรต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ HCTZ / สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้าง เคียง) เช่น

  • ทำให้ร่างกายเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่
  • รู้สึกระคายเคืองในทางเดินอาหาร
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ปากคอแห้ง
  • กระหายน้ำ
  • ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • ตัวซีด
  • ตับอ่อนอักเสบ และ
  • อาจมีอาการของโรคเกาต์ กำเริบ

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยแพ้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ และแพ้ยาซัลโฟนาไมด์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ปัสสาวะไม่ออก
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะตับ - ไตบกพร่องอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไร้ท่อที่ชื่อ โรคแอดดิสัน (Addison's disease)
  • ห้ามใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ที่กำลังควบคุมระดับเกลือแร่ในเลือด และในผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับยารักษาอาการทางจิตประสาท/ยาจิตเวช อาจทำให้ยารักษาอาการทางจิตฯมีระดับปริมาณในกระแสเลือดสูงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะท้องเสีย อาเจียน ง่วงนอน ตัวสั่น กระหายน้ำ ยารักษาอาการทางจิตดังกล่าว เช่นยา Lithium
  • การใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่างๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น วิงเวียน เป็นลม อ่อนเพลีย สับสน ง่วงนอน กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ซึ่งภายหลังรับประทานยานี้ ถ้ามีอาการดังกล่าวควรต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะดังกล่าว เช่นยา Amidarone
  • การใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดภาวะ ปวดหัว วิงเวียน เป็นลม จึงห้ามรับประทานร่วมกัน
  • อาจทำให้เกิดภาวะของเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatraemia ) เมื่อใช้ร่วมกับ ยากันชัก เช่นยา Carbamazepine
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงของความเป็นพิษต่อร่างกายเมื่อใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับ
    • ยารักษาโรคเกาต์ เช่นยา Allopurinol หรือ
    • ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยาTetracycline

ควรเก็บรักษายาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?

สามารถเก็บยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด
  • เก็บยาในที่ที่พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไร?

ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Dichlotride (ไดคลอไทรด์) M & H Manufacturing
Diric (ไดริก) The Forty-Two
Diuret-P (ไดยูเรท-พี) P P Lab
Dragotab (ดราโกแท็บ) K.B. Pharma
HCTZ/Hydrochlorothiazide T.O. (เอชซีทีแซด/ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ ที.โอ.) T.O. Chemicals
Hychlozide (ไฮคลอไซด์) Pharmasant Lab
Hydrochlorothiazide GPO (ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ จีพีโอ) GPO
Hydrochlorothiazide Union Drug (ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ ยูเนียน ดรัก) Union Drug
Hydrochlorthiazide (ยาไฮโดรคลอร์ไทอะไซด์) BJ Benjaosoth
Hydrozide Atlantic (ไฮโดรไซด์) Atlantic Lab
Hydrozide Medicine Products (ไฮโดรไซด์ เมดิซีน โพรดักส์) Medicine Products
Urazide (ยูเรไซด์) A N H Products

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Hydrochlorothiazide#Medical_uses [2020,Oct10]
2. 2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fhydrochlorothiazide%2f [2020,Oct10]
3. http://www.drugs.com/drug-interactions/hydrochlorothiazide.html [2020,Oct10]
4. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682571.html#storage-conditions [2020,Oct10]