ไฮออสซีน (Hyoscine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไฮออสซีน (Hyoscine หรือ Hyoscine butylbromide) เป็นยารักษาและบรรเทาอาการปวดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร ถูกจดทะเบียนยาครั้งแรกที่ประเทศเยอรมันนีในปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) และจัดจำหน่ายในปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) และเป็นที่ยอมรับในการนำมาใช้จากวงการแพทย์เป็นอย่างมาก

ยาไฮออสซีน ได้ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุไฮออสซีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย ประชาชนคนไทยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และมีใช้ในหลายสถานพยาบาลทั่วประเทศ

วิธีกระจายตัวยานี้ในร่างกายได้ถูกนำไปศึกษาและพบว่า เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าในกระแสเลือด ไฮออสซีนสามารถออกฤทธิ์ได้ภายในประมาณ 10 นาที มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ 2 ชั่ว โมงโดยประมาณ ยานี้จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่ว โมงในการกำจัดไฮออสซีน 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ

ยาไฮออสซีน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย มีข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันออกไป เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา จึงควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

ยาไฮออสซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไฮออสซีน

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาไฮออสซีน เช่น

  • รักษาและบรรเทาอาการปวดเกร็งของช่องท้องที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินอาหารรวมถึงระบบทางเดินปัสสาวะ

ยาไฮออสซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮออสซีนคือ ตัวยาจะเข้าไปแข่งขันและยับยั้งการทำงานของตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อว่า มาสคารินิก (Mascarinic receptors) ทำให้เกิดผลแสดงออกที่ระบบ ประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในเกิดการคลายตัว ประกอบกับลดการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยาไฮออสซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไฮออสซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • จัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • จัดจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำ ขนาด 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • จัดจำหน่ายในรูปแบบยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ยาไฮออสซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไฮออสซีนสำหรับรักษาอาการปวดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้ โดยมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง

ข. เด็กอายุ 6 - 12 ปี: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง

ค. เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: การใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

อนึ่ง:

*ผู้ป่วยที่รับประทานยานี้เกินขนาด จะมีอาการ เช่น

  • รูม่านตาขยาย
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ความดันโลหิตสูง
  • เกิดภาวะกดประสาทส่วนกลาง (เช่น ซึม)
  • ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (เข่น ตัวเขียว)
  • ค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG: Electrocardiography) ผิดปกติ
  • การหายใจล้มเหลว (เช่น หายใจเร็ว เบา หายใจลำบาก)

*ซึ่งหากพบอาการข้างต้น ต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที เพื่อทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย ลดไข้ด้วยน้ำแข็งหรือแอลกอฮอล์ (Alcohol sponges) ซึ่งหากมีอาการหนักและรุนแรง แพทย์จะให้ ยา Physostigmine (ยากระตุ้นระบบประ สาทชนิดหนึ่ง) ขนาด 1 - 2 มิลลิกรัม โดยฉีดใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้าเส้นเลือดอย่างช้าๆ อาจให้ยาซ้ำอีกครั้งหลัง 2 ชั่วโมงจากการให้ยาครั้งแรก

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไฮออสซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไฮออสซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไฮออสซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไฮออสซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไฮออสซีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ใบหน้าแดง
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว
  • ความจำเสื่อม
  • ผิวแห้ง
  • ผิวหนังขึ้นผื่น
  • เกิดผื่นแพ้แสงแดด
  • ท้องผูก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • รูม่านตาขยาย
  • ปวดกระบอกตา
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • บวมน้ำ
  • น้ำมูกไหล
  • แน่นจมูก
  • ซึม
  • ภาวะหายใจล้มเหลว
  • อาจจนถึงขั้นโคม่า

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสซีน ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยในโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเลือดออกแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยในโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ และเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยที่มีแผลในลำไส้ ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮออสซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไฮออสซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไฮออสซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ ง่วงนอน อ่อนเพลีย ซึม จึงไม่ควรใช้ยาร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ดังกล่าว
  • การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (เช่น ยาคลายเครียด, ยานอนหลับ) จะส่งผลให้เกิดอาการกล่อม/กดประสาทได้มากขึ้น ควรต้องเพิ่มความระวังหากต้องใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับยากลุ่มต้านสารสื่อประสาท Acetylcholinesterase inhibitors เช่นยา Donepezil, Galantamine, Rivastigmine, และ Tacrine สามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาเหล่านี้ลดลงไปได้

ควรเก็บรักษายาไฮออสซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไฮออสซีน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไฮออสซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไฮออสซีนที่มีใช้ในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและชื่อบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amcopan (แอมโคแพน) MacroPhar
Antispa (แอนตี้สปา) T P Drug
Bacotan FC (บาโคแทน เอฟซี) T.O. Chemicals
Buscono (บัสโคโน) Milano
Buscopan (บัสโคแพน) Boehringer Ingelheim
Butyl (บูติล) Masa Lab
Cencopan (เซ็นโคแพน) Pharmasant Lab
Hybutyl (ไฮบูติล) Pharmaland
Hyoscin BM (ไฮออสซิน บีเอ็ม) Patar Lab
Hyoscine-N-butylbromide GPO (ไฮออสซิน-เอ็น-บูติลโบรมายด์ จีพีโอ) GPO
Hyosman (ไฮออสแมน) T. Man Pharma
Hyosmed (ไฮออสเมด) Medifive
Hyospan (ไฮออสแพน) Polipharm
Hyostan (ไฮออสแทน) Pharmaland
Hyozin (ไฮโอซิน) Union Drug
Hy-Spa 10 (ไฮ-สปา 10) Medicine Products
Kanin (คานิน) L. B. S.
Myspa (มายสปา) Greater Pharma
Scopas (สโคพาส) Asian Pharm
Spascopan (สพาสโคแพน) Bangkok Lab & Cosmetic
Spasgone-H (สพาสกอน-เอ็น) Chew Brothers
Spasmo (สพาสโม) Pharmahof
U-Oscine (ยู-ออสซีน) Umeda
Uospan (ยูออสแพน) Utopian
Vacopan (วาโคแพน) Atlantic Lab
Vescopolamine Injection (เวสโคโพลามายด์ อินเจ็คชั่น) Vesco Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17547475 [2020,Oct10]
  2. https://www.netdoctor.co.uk/medicines/digestion/a6342/buscopan-hyoscine/ [2020,Oct10]
  3. http://mims.com/Thailand/drug/search/?q=hyoscine&page=0 [2020,Oct10]
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fhyoscine%2f [2020,Oct10]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyoscine_butylbromide [2020,Oct10]