ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) คือ ยาที่มักนำมาใช้รักษาอาการ ผื่นคัน, ลมพิษ, เมารถเมาเรือ, บางกรณียังถูกนำมาบำบัดอาการวิตกกังวลระดับที่ไม่รุนแรง, ยานี้อยู่ในกลุ่มยาต้านสารฮิสตามีน /ยาแก้แพ้ (Antihistamine) รุ่นที่ 1, ถูกสังเคราะห์เมื่อปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499), ทำการตลาดและวางจำหน่ายโดยบริษัท Pfizer ภายในปีเดียวกัน, ทางคลินิกมีการใช้ยานี้ สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ก่อนการใช้ยานี้ผู้บริโภคควรทราบข้อมูลบางประการของยาตัวนี้ เช่น

  • ไม่ควรใช้กับผู้ที่แพ้ยาไฮดรอกไซซีน
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับ สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ต้องระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะขณะใช้ยานี้ ด้วยยาไฮดรอกไซซีนมีฤทธิ์สงบประสาท/ยาคลายเครียดและทำให้ง่วงนอน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติ โรคลมชัก โรคไต   โรคตับ โรคหืด โรคต้อหิน  โรคหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ และโรคต่อมลูกหมากโต
  • *หากใช้ยานี้แล้วมีอาการ ตัวสั่น รู้สึกสับสน เกิดอาการของลมชัก กล้ามเนื้อในลิ้น-ที่กราม หรือที่คอมีอาการกระตุก, *ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • การรับประทานยานี้พร้อมสุราจะทำให้อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาเกิดมากกว่าปกติ
  • ผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น

ทั้งนี้ รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบมากและใช้กันบ่อยของยานี้ ได้แก่ ยาชนิดรับประทาน, ตัวยาสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร, และออกฤทธิ์ภายในประมาณ 15 - 30 นาทีหลังรับประทาน, ระยะเวลาของการออกฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 1 - 12 ชั่วโมงขึ้นกับอาการโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย, เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 93%, และถูกส่งไปเผาผลาญหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีที่ตับ, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 - 24 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยาครึ่งหนึ่งในกระแสเลือด, โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

เคยมีการทดลองใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งท้องพบว่า ตัวยานี้ก่อให้เกิดอันตรายกับตัวอ่อนของสัตว์ทดลองดังกล่าว, *ทางคลินิกจึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาไฮดรอกไซซีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ, โดยมีรูปแบบการใช้เป็นชนิดรับประทานแบบเม็ดและยาน้ำเชื่อม

ยาไฮดรอกไซซีนจัดอยู่ในหมวดหมู่ของยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยานี้ของผู้บริโภคจึงควรใช้ยานี้ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ไฮดรอกไซซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไฮดรอกไซซีน-01

ไฮดรอกไซซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการผื่นคันของผิวหนังและลมพิษอันมีสาเหตุมาจากสารฮิสตามีน
  • บรรเทาอาการวิตกกังวล, ช่วยผ่อนคลายลดความตึงเครียด, รวมถึงบางกรณีของอาการวิตกกังวลระดับไม่รุนแรงที่เกิดในผู้มีอาการถอนยา/ลงแดงจากสุรา/ยาเสพติด
  • บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน

ไฮดรอกไซซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮดรอกไซซีน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้ายับยั้งการทำงานของตัวรับ (Receptor) ที่ถูกเรียกว่า ‘Histamine H1-receptor’ ซึ่งพบในระบบทางเดินอาหาร หลอดเลือด อวัยวะในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ช่วยสงบประสาท/คลายเครียด ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้หลอดลมมีการขยายตัว ลดและบรรเทาอาการอาเจียน รวมถึงบรรเทาอาการปวดได้ด้วย จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้ยานี้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ไฮดรอกไซซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไฮดรอกไซซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10, 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ไฮดรอกไซซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไฮดรอกไซซีนมีขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดของ อาการ, อายุของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น

ก. สำหรับอาการ ผื่นคัน ลมพิษ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม, วันละ 3 - 4 ครั้ง
  • เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง
  • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วัน,โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง

ข. สำหรับบรรเทาอาการวิตกกังวล: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 50 - 100 มิลลิกรัม, วันละ 4 ครั้ง
  • เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน,โดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง
  • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง

*อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไฮดรอกไซซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮดรอกไซซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือ รก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไฮดรอกไซซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไฮดรอกไซซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไฮดรอกไซซีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น

  • มีอาการง่วงนอนตั้งแต่ระดับต่ำๆไปจนถึงระดับกลางๆ
  • ปวดหัว
  • อ่อนเพลีย
  • อาจพบอาการซึมเศร้า
  • กระสับกระส่าย
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการตัวสั่น
  • ภาวะชักกระตุก
  • ปากคอแห้ง
  • คลื่นไส้
  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • รับประทานอาหารได้มากขึ้น
  • มีสารคัดหลั่งออกมามากในระบบทางเดินหายใจ
  • อาจพบภาวะหลอดลมเกร็งตัว
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ตัวบวม
  • บางกรณีกับผู้ป่วยบางรายยานี้อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นคันเสียเอง
  • ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ปัสสาวะขัด
  • ตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้ไฮดรอกไซซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮดรอกไซซีน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือผู้ที่แพ้อนุพันธุ์ของยา Piperazine , ผู้ที่แพ้ยา Cetirizine, และ Aminophylline
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคพอร์ฟิเรีย
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ที่มีภาวะกระเพาะอาหาร-ลำไส้เคลื่อนตัว/บีบตัวได้น้อย ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคความจำเสื่อม ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและผู้สูงอายุ
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร จากการง่วงนอนจากผลข้างเคียงของยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้  "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮดรอกไซซีน) ยาแผนโบราณ  สมุนไพรต่างๆ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไฮดรอกไซซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไฮดรอกไซซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไฮดรอกไซซีน ร่วมกับยา Propoxyphene อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ของยาไฮดรอกไซซีนมากยิ่งขึ้นเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน และขาดสติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไฮดรอกไซซีน ร่วมกับยา Amiodarone, Moxifloxacin, Sotalol, Clozapine สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยจนถึงขั้นตายได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาไฮดรอกไซซีน
  • การใช้ยาไฮดรอกไซซีน ร่วมกับยา Potassium chloride สามารถก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นจนทำให้มีแผลและเลือดออกได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไฮดรอกไซซีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาไฮดรอกไซซีน: เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไฮดรอกไซซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไฮดรอกไซซีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Atarax (อทาแรกซ์) GlaxoSmithKline
Abacus (อบาคัส) Pharmaland
Allerax (แอลเลอแรกซ์) Bangkok Lab & cosmetics
Antipru (แอนตี้พรู) BJ Benjaosoth
Antizine (แอนตี้ซีน) Central Poly Trading
Atalog (อทาล็อก) Chinta
Atano10 (อทาโน 10) Milano
Cerax (เซแลกซ์) Central Poly Trading
Hadarax (ฮาดาแรกซ์) Greater Pharma
Histan (ฮีสแทน) Siam Bheasach
Hizin (ไฮซิน) Daiichi Sankyo
Hyzine (ไฮซีน) Utopian
Katrax (คาแทรกซ์) B L Hua
Polizine (โพลิซีน) Polipharm
R-RAX (อาร์-แรกซ์) Medicine Products
Taraxin (ทาราซิน) T. O. Chemicals
Trandrozine (ทรานโดรซีน) Asian Pharm
Xyzine (ไซซีน) Thai Nakorn Patana

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Hydroxyzine  [2022,Aug13]
  2. https://www.drugs.com/hydroxyzine.html  [2022,Aug13]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/hydroxyzine?mtype=generic  [2022,Aug13]
  4. http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf  [2022,Aug13]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Atarax/  [2022,Aug13]
  6. https://go.drugbank.com/drugs/DB00557  [2022,Aug13]
  7. https://www.drugs.com/sfx/hydroxyzine-side-effects.html [2022,Aug13]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/hydroxyzine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Aug13]
  9. https://www.mims.com/India/drug/info/hydroxyzine/hydroxyzine?type=full [2022,Aug13]
  10. https://www.drugs.com/dosage/hydroxyzine.html#Usual_Adult_Dose_for_Anxiety [2022,Aug13]