ไอ ไอ ไอ แล้วก็ไอ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ส่วนการดูแลรักษานั้น นพ. มานพชัย ธรรมคันโธ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สำหรับคนที่ไอและมีเสมหะร่วมด้วย ควรได้รับยากลุ่มละลายเสมหะ เช่น กลุ่มคาโบซิสเตอีน 500 มิลลิกรัม หรือ กลุ่มบรอมเฮกซีน 8 มิลลิกรัม เพื่อลดความเหนียวข้นของเสมหะ ทำให้เสมหะถูกละลายและขับออกมา และจะบรรเทาอาการไอดีขึ้น

นพ.มานพชัย อธิบายว่า คนที่มีอาการไอแบบมีเสมหะนี้ ไม่ควรเลือกรับประทานยากลุ่มที่ระงับ หรือกดอาการไอ เพราะยาเหล่านี้แม้จะทำให้อาการไอน้อยลง แต่ไม่ได้ช่วยให้เสมหะลดลง ในทางตรงข้ามจะยิ่งสะสมเสมหะในหลอดลมมากขึ้น อาจทำให้เกิดหลอดลมอุดตันและเกิดการติดเชื้อ จนกลายเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงได้

ตามปกติแล้วหากรับประทานยาที่ถูกกับโรคและอาการ รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยแวดล้ออมที่จะกระตุ้นอาการไอ โดยหมั่นดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำอย่างพอเพียง เสมหะจะลดลงภายใน 3 - 5 วัน อาการไอก็จะหายไปภายใน 5 - 7 วัน

การรักษาอาการไอควรแยกรักษาเป็นอาการๆ ไป มียาแก้ไอ 2 ประเภท ที่ใช้กันอยู่ คือ ยาขับเสมหะ และ ยาระงับอาการไอ ยาขับเสมหะ (Expectorants) ช่วยให้เสมหะอ่อนตัวลงเพื่อง่ายต่อการขับออก ควรใช้ยาขับเสมหะเมื่อมีอาการไอที่มีเสมหะมากและมีปัญหาในการเอาเสมหะออก อย่างไรก็ตาม อย่าพึ่งแต่ยาขับเสมหะอย่างเดียว ควรดื่มน้ำให้มากด้วย

ยาระงับอาการไอ (Suppressants) ใช้หยุดยั้งอาการไอ ใช้ได้ดีกับอาการไอแบบแห้งๆ ไออย่างรุนแรง โดยใช้ให้ถูกวิธี ไม่ใช่พร่ำเพรื่อ ทั้งนี้เพราะการไอก็มีประโยชน์ในการนำเสมหะออกจากปอด และช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย คนที่เป็นโรคหืดและโรคปอดอย่างอื่นก็ต้องให้มีการไอด้วย ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ไอ ดังนี้

  • ยาแก้ไออาจมีผลต่อผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ผู้ที่เป็นโรคหืด หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง ต้อหิน (Glaucoma) และต่อมลูกหมากโต นอกจากนี้ยาแก้ไออาจมีผลกระทบกับยาตัวอื่นด้วย เช่น ยาระงับประสาท (Sedative) ยาต้านอาการเศร้าซึม (Antidepressant)
  • ต้องใช้ยาแก้ไอด้วยความระมัดระวังกรณีมีอายุมากกว่า 60 ปี หรือมีปัญหาเรื่องโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
  • อ่านฉลากยาให้ดี เพราะยาแก้ไอบางตัวมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ในขณะที่บางตัวมีส่วนผสมของโคเดอีน (Codeine) [โคเดอีน จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ มักนำไปผสมกับยาอื่นเพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษา]

ไม่มีวิธีป้องกันอาการไอที่แน่นอน แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการ :

  • ล้างมือให้บ่อยในช่วงที่มีไข้หวัดระบาด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อของไวรัสซึ่งทำให้เป็นไข้หวัดได้
  • ถ้าเป็นไปได้ ให้พยายามเลี่ยงคนที่เป็นไข้หวัด
  • อย่าสูบบุหรี่หรือยาสูบ การไอเพราะบุหรี่หรือไอแบบแห้ง หมายความว่า ปอดได้รับการระคายเคือง
  • ดื่มน้ำให้มากเพื่อละลายเสมหะ และป้องกันภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • ให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (Pneumococcal shot) กรณีที่อายุเกิน 65 ปี หรือกรณีที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. เรียนรู้อาการไอ เพื่อแก้ไขอย่างถูกวิธี http://www.thairath.co.th/content/life/320194 [2013, January 20].
  2. Coughs – Prevention. http://www.webmd.com/cold-and-flu/tc/coughs-prevention [2013, January 20].
  3. Coughs - Home Treatment. http://www.webmd.com/cold-and-flu/tc/coughs-home-treatment [2013, January 20].