ไอโอดีนในอาหาร (Dietary iodine)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ไอโอดีนในอาหาร

บทนำ

แร่ธาตุรอง (Micro minerals or Trace elements) คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงแม้ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่ไม่สามารถขาดได้ เนื่องจากจำเป็นต่อการเจริญเติบโต แร่ธาตุรอง ได้แก่ เหล็ก ไอโอดีน ซีลีเนียม แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โครเมียม ฟลูออไรด์ เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘ไอโอดีน(Iodine)’

ไอโอดีนคืออะไร?

ไอโอดีนในอาหาร(Dietary iodine) อยู่ในรูปของสารไอโอโดด์ (Iodide) เมื่อสารอินทรีย์ถูกย่อยที่ระบบทางเดินอาหาร ไอโอดีนในสารนั้นๆจะเป็นอิสระและถูกดูดซึมร้อยละ 100(100%)ที่ลำไส้เล็ก หลังจากนั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งไอโอดีนจะรวมกับสารโปรตีน (Protein) และกระจายไปตามเซลล์ (Cell) ต่างๆ ซึ่งต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) จะจับไอโอดีนไว้ประมาณร้อยละ 80 (80%) ทำให้ต่อมไทรอยด์มีความเข้มข้นของไอโอดีนมากกว่าในเลือดประมาณ 20–50 เท่า โดยต่อมไทรอยด์จะใช้ไอโอดีนสร้างฮอร์โมนไทรอกซิน (Thyroxin hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์ (Cell) ส่วนไอโอดีนที่เหลือใช้ จะถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ และถูกขับออกทางเหงื่อ และอุจจาระเพียงเล็กน้อย

ไอโอดีนมีผลต่อร่างกายอย่างไร?

ไอโอดีนมีผลต่อร่างกาย ดังนี้

1. การขาดไอโอดีนทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น หรือที่เรียกกันว่า โรคคอพอก (Goiter) เนื่องจากต่อมไทรอยด์ใช้ไอโอดีนในการสร้างฮอร์โมนไทรอกซิน การขาดไอโอดีนจะทำให้ฮอร์โมนไทรอกซินในเลือดลดลงกว่าปกติ ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า คือ ไทรอยด์สติมูเลติงฮอร์โมน (Thyroid stimulating hormone) กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้มีขนาดและจำนวนเซลล์เพิ่มขึ้นเพื่อทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอกซินเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น ถ้าหากต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากจนเบียดหลอดอาหารหรือหลอดลมก็อาจทำให้เกิดอาการกลืนอาหาร หรือการหายใจลำบากได้

2. การขาดไอโอดีนตั้งแต่เด็กจะทำให้ร่างกาย เตี้ย แคระแกร็น เป็นโรคคอพอก และปัญญาอ่อนได้

แหล่งอาหารที่พบไอโอดีน

อาหารที่มีไอโอดีนได้แก่ อาหารทะเลทุกชนิด และเกลือแกงที่เติมไอโอดีน เป็นต้น โดย วัยรุ่น หญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ต้องการไอโอดีนมากกว่าคนทั่วไป

ตารางที่ 1 ปริมาณธาตุไอโอดีนที่เหมาะสำหรับแต่ละช่วงอายุและเพศ

หมายเหตุ:

ค่าที่นำเสนอในตารางนี้สำหรับปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน (Recommended Dietary Allowance หรือ RDA) แสดงด้วยตัวเลขทึบ ปริมาณสารอาหารที่พอเพียงในแต่ละวัน ปริมาณสารอาหารพอเพียงใจแต่ละวัน(Adequate Intake หรือ AI) แสดงด้วยตัวเลขธรรมดาและมีเครื่องหมาย * กำกับอยู่ข้างบน ค่า RDA และ AI เป็นปริมาณที่แนะนำ สำหรับต่ละบุคคลทั้ง 2 ค่า ความแตกต่างอยู่ที่การได้ค่า RDA จะเป็นปริมาณที่ครอบคลุมความต้องการของบุคคลในกลุ่ม (ร้อยละ 97-98) สำหรับทารกซึ่งดื่มน้ำนมแม่และมีสุขภาพดีใช้ค่า AI ซึ่งหมายถึงค่าเฉลี่ยของปริมาณสารอาหารที่ได้รับจากน้ำนมแม่ สำหรับค่า AI ตามเพศและวัยอื่นๆ เชื่อว่าเป็นค่าที่เพียงพอสำหรับความต้องการของบุคคลในกลุ่มแต่ยังขาดข้อมูล หรือความไม่แน่นอนของข้อมูลที่จะนำไปกำหนดปริมาณที่บริโภคตามเปอร์เซ็นต์ความเชื่อมั่น

†แรกเกิดจนถึงก่อนอายุครบ 6 เดือน

‡อายุ 1 ปี จนถึงก่อนอายุครบ 4 ปี

สรุป

ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เนื่องจากไอโอดีนถูกนำมาใช้ในการสร้างฮอร์โมนไทรอกซีนซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ดังนั้น เราจึงควรได้รับในไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม โดยในปัจจุบันได้มีการใส่ไอโอดีนลงในเกลืออนามัย ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารเพื่อป้องกันโรคคอพอกที่เกิดจากการขาดไอโอดีนได้

บรรณานุกรม

  1. อาหารหลัก 5 หมู่ https://krooaoodpat.files.wordpress.com [2018,Aug18]
  2. บทที่ 6 วิตามิน แร่ธาตุและน้ำ www.facagri.cmru.ac.th/2013/wp-content/uploads/.../6วิตามิน-แร่ธาตุ-น้ำ [2018,Aug18]
  3. การเสริมวิตามิน – แร่ธาตุ และCRN ปิระมิด www.med.cmu.ac.th/dept/nutrition/DATA/COMMON/vitmin%20crn%20pyramid.pdf [2018,Aug18]