ไอโลเพอริโดน (Iloperidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอโลเพอริโดน (Iloperidone) อยู่ในกลุ่มยารักษาโรคจิตรุ่นที่ 2 (Atypical antipsychotics) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการโรคจิตเภท(Schizophrenia) ในปี ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาความสามารถในการบำบัดอาการทางจิตของยานี้โดยเปรียบเทียบกับยารักษาโรคจิต 15 ชนิด มีข้อสรุปออกมาว่ายาไอโลเพอริโดนมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับยา Ziprasidone, Chlorpromazine, Asenapine, และ Lurasidone

ยาไอโลเพอริโดน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยทำให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆ ซึ่งส่งผลเกิดผลดีต่อสภาพจิตของผู้ป่วยจิตเภท รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไอโลเพอริโดนมีทั้งประเภทยารับประทานและยาฉีด เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 97% ตับจะคอยทำลายโครงสร้างของยาไอโลเพอริโดนอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลา 18–33 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาไอโลเพอริโดนถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับผู้ใหญ่ และห้ามใช้กับเด็ก อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามและข้อควรระวังการใช้ยาไอโลเพอริโดนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการทางจิตที่มีภาวะความจำเสื่อมร่วมด้วย การใช้ยานี้ในขนาดสูงกับผู้สูงอายุอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เสียชีวิตโดยมีความเกี่ยวพันกับโรคประจำตัวผู้ป่วยที่มีอยู่ก่อน อย่างเช่น โรคหัวใจ หรือมีการติดเชื้อของผู้ป่วย ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ร่างกายมีความอ่อนแอและสุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้ง่ายนั่นเอง
  • การใช้ยาชนิดนี้กับ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีโรคไขมันในเลือดสูง ตลอดจนผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมากๆ ล้วนแต่จะทำให้อาการป่วยหรือโรคประจำตัวดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์อาจต้องตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยง/ห้ามรับประทานยาไอโลเพอริโดนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอนมากยิ่งขึ้น
  • ขณะได้รับยานี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน การเสียเหงื่อมากๆ อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาไอโลเพอริโดนได้มากยิ่งขึ้น ในกรณีนี้ การดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอบ่อยๆอาจจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ป่วย
  • ยาไอโลเพอริโดนสามารถทำให้เม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นตัวต่อต้านเชื้อโรคลดต่ำลงและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ผู้ป่วยบางรายถึงกับเสียชีวิตจากภาวะ ติดเชื้อดังกล่าว จากเหตุผลนี้เอง ทำให้แพทย์ต้องตรวจระดับเม็ดเลือดขาวของผู้ที่ได้รับยาไอโลเพอริโดนเป็นระยะๆไป
  • ทางคลินิก ยังพบสถิติผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาชนิดนี้มากกว่าผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่านี้
  • ห้ามใช้ยาไอโลเพอริโดนกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร มีรายงานทางคลินิกพบว่า ยานี้สามารถส่งผ่านถึงทารกและทำให้กล้ามเนื้อของทารกทำงานผิดปกติ ตลอดจนก่อให้เกิดภาวะถอนยากับทารกตามมา

อนึ่ง ยาไอโลเพอริโดนเป็นยารักษาจิตเภทที่มีการใช้กันมากในแถบซีกโลกตะวันตก สำหรับยานี้ในทวีปเอเชีย จะพบเห็นการจำหน่ายแต่ในประเทศอินเดีย โดยใช้ชื่อการค้าว่า “Ilosure”

ไอโลเพอริโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอโลเพอริโดน

ยาไอโลเพอริโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการทางจิตเภท (Schizophrenia)

ไอโลเพอริโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไอโลเพอริโดนอยู่ในกลุ่มยา Serotonin-dopamine antagonist สามารถออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ของสารสื่อประสาทต่างๆในสมอง เช่น Serotonin receptor, Dopamine receptor ส่งผลให้ระดับสารสื่อประสาทต่างๆมีสมดุลและเหมาะสมมากขึ้น จากกลไกนี้ จึงทำให้อาการของโรคจิตเภทกลับมาเป็นปกติได้ตามสรรพคุณ

ไอโลเพอริโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอโลเพอริโดนชนิดรับประทาน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Iloperidone 1, 2, 4, 6, 8, 10 และ12 มิลลิกรัม/เม็ด

ไอโลเพอริโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไอโลเพอริโดนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทาน ทัวไปไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/ครั้ง ขนาดรับประทานปกติอยู่ในช่วง 6–12 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 24 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • การที่แพทย์ปรับเพิ่มขนาดรับประทานทีละน้อยๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • หลังรับประทานยานี้ไปแล้ว 1–2 สัปดาห์ จึงอาจจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา โดยสภาพจิตของผู้ป่วยจะดีขึ้นเป็นลำดับ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอโลเพอริโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโลเพอริโดน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอโลเพอริโดน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานที่ขนาดปกติ กรณีลืมรับประทานยาเกิน 3 วัน ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดรับประทานยากันใหม่

อนึ่ง การหยุดใช้ยาไอโลเพอริโดนทันที อาจทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทกำเริบขึ้น

ไอโลเพอริโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอโลเพอริโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง รับประทานอาหารมากขึ้น ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เจ็บหน้าอก/เจ็บเต้านม หน้าอก/เต้านมโตขึ้น มีไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย ก้าวร้าว อารมณ์หงุดหงิด ซึม มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดนิ่วในไต ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ เช่น การเคลื่อนที่ของร่างกายทำได้ช้าลง ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น คัดจมูก หายใจขัด/หายใจลำบาก เกิดโรคติดเชื้อ ทางเดินหายใจได้ง่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปากแห้ง รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสีย หลั่งน้ำลายมาก กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในปาก กรดไหลย้อน
  • ผลต่อระบบทางเดินสืบพันธุ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ปวดองคชาติ องคชาติแข็งค้าง ประจำเดือนขาด(ในสตรี)
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ ตาแห้ง หนังตาบวม เกิดต้อกระจก หนังตากระตุก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง มีภาวะฮีมาโทคริตต่ำ ฮีโมโกลบินต่ำ
  • ผลต่อตับและทางเดินน้ำดี: เช่น เกิดนิ่วในถุงน้ำดี

มีข้อควรระวังการใช้ไอโลเพอริโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโลเพอริโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และให้ใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหันถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้นเป็นลำดับก็ตาม ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งตามแพทย์สั่ง แพทย์เท่านั้นที่จะปรับลดการใช้ยานี้ได้เหมาะสมที่สุด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • หลังรับประทานยานี้แล้วเกิดอาการวิงเวียน ห้ามผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ด้วยอาจส่งผลทำให้ร่างกายเกิด ภาวะขาดน้ำตามมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติโดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้
  • ยานี้สามารถทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยอ่อนแอลง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการนำผู้ป่วยไปอยู่ในบริเวณ/พื้นที่ที่มีประชากรมีแออัดหรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีน้ำหนักตัวสูงขึ้น กรณีนี้สามารถปรึกษากับแพทย์เพื่อปรับขนาดการใช้ยานี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
  • ผู้ป่วยสูงวัย/ผู้สูงอายุที่ได้รับยานี้ อาจพบเห็นอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย อย่างเช่น การบังคับ แขน ขา ลิ้น ใบหน้า และปาก ทำได้ลำบาก หากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ อาจต้องได้รับการตรวจเลือด เพื่อเป็นการตรวจสอบและ ป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงของยานี้ เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
  • *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะมีอาการความดันโลหิตต่ำ และมีหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็ว กรณีที่พบเห็นผู้ป่วยใช้ยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอโลเพอริโดนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไอโลเพอริโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอโลเพอริโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาไอโลเพอริโดนร่วมกับ ยาChlordiazepoxide ด้วยจะทำให้มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ลำบาก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอโลเพอริโดนร่วมกับ ยาNitroglycerin ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้ามใช้ยาไอโลเพอริโดนร่วมกับ ยาAmitriptyline ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ยาไอโลเพอริโดนร่วมกับ ยาBupropion ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักได้ง่ายยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาไอโลเพอริโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาไอโลเพอริโดน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ไอโลเพอริโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอโลเพอริโดน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Fanapt (ฟาแนพท์)Novartis
ILOSURE (ไอโลเซอร์)Sun

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Fanapta, Zomaril

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Iloperidone[2017,Oct7]
  2. https://www.drugs.com/cdi/iloperidone.html[2017,Oct7]
  3. https://www.drugs.com/sfx/iloperidone-side-effects.html[2017,Oct7]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/iloperidone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Oct7]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/022192lbl.pdf[2017,Oct7]
  6. https://davisplus.fadavis.com/3976/meddeck/pdf/iloperidone.pdf[2017,Oct7]
  7. http://www.mims.com/india/drug/info/ilosure/ilosure%20tab[2017,Oct7]